วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

31 ขั้นเอาชนะความกลัวในการถ่ายภาพแนวสตรีท

31 ขั้น เอาชนะความกลัวในการถ่ายภาพ Street Photography 


                ตัวผมเอง (สุระ นวลประดิษฐ์ ผู้เรียบเรียง) โดยพื้นฐานแล้ว ไม่ใช่นักถ่ายภาพที่มีความเชี่ยวชาญในการถ่ายภาพแนว Street Photography และกล่าวได้ว่า มีความรู้และประสบการในการถ่ายภาพแนวนี้น้อยมาก โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าตัวเองเป็นคนชอบถ่ายภาพในแนวปลีกวิเวก การไปยังสถานที่ที่ปราศจากผู้คนเป็นสิ่งที่ผมปรารถนามากกว่าการถ่ายภาพในที่มีคนมากๆ การถือกล้องไปถ่ายผู้คนหรือเหตุการณ์ที่เกิดบนท้องถนน เป็นประสบการณ์ที่แทบจะไม่ค่อยเกิดขึ้นเลยกับตัวผม สาเหตุที่ผมเรียบเรียงเรื่องนี้ขึ้นมานั้น เกิดจากครั้งหนึ่งที่ผมชนะการประกวดภาพรายการหนึ่ง มีรางวัลเป็นทริปถ่ายภาพในประเทศกานา ทวีปอาฟริกา เป็นเวลา 9 วัน ผมดูโปรแกรมการถ่ายภาพในทริปที่ทางผู้จัดได้ส่งมาให้นั้น มีอยู่หลายช่วงที่ต้องไปเดินเที่ยวกันตามถนนหรือแหล่งชุมชนต่างๆ ที่น่าสนใจในประเทศกานา ซึ่งผมคิดว่าจะต้องมีการถ่ายภาพผู้คนหรือเหตุการณ์ในแนว Steet Photography อย่างแน่นอน ผมคิดว่าตัวเองมีความรู้และประสบการณ์ในการถ่ายภาพแนวนี้แทบจะเป็นศูนย์ จึงได้ลองค้นหาเรื่องราวเกี่ยวกับการถ่ายภาพแนวนี้มาอ่านดู เพื่อว่าจะได้มีเกร็ดความรู้ ทิป เทคนิค หรือแนวทางต่างๆ ไว้เพื่อปรับใช้เวลาไปถึงสถานที่จริงบ้าง ดีกว่าไปแบบไม่มีอะไรอยู่ในหัวเลย

                ผมได้พบบทความดีๆ มากมายเกี่ยวกับการถ่ายภาพแนวสตรีทอยู่ในอินเตอร์เน็ต และหนึ่งในบทความที่ผมได้อ่านในครั้งนั้น และนำแนวคิดไปใช้ประโยชน์ได้มากก็คือ บทความเรื่อง 31 Days to Overcome Your Fear of Shooting Street Photography ของ Eric Kim นักถ่ายภาพแนว Street Photographyดูผลงานของเขาได้ที่erickimphotography.com/blog ซึ่งรวบรวมแนวคิดต่างๆ ในการถ่ายภาพแนวนี้สำหรับมือใหม่หัดถ่ายภาพบนท้องถนนเอาไว้ทั้งหมด 31 ข้อด้วยกัน โดยเรื่องนี้Eric Kim ได้เขียนไว้ในบล็อกของเขาในลักษณะ Open-source อนุญาตให้นำไปเผยแพร่ ดัดแปลง แก้ไขได้ทุกรูปแบบในลักษณะที่ไม่ใช่เชิงการค้า ผมตั้งใจไว้ตั้งแต่ในขณะอ่านครั้งแรกแล้วว่า ถ้ามีโอกาสหรือพอจะหาเวลาได้ ก็จะเอาเรื่องนี้มาเรียบเรียงเป็นภาษาไทยให้นักถ่ายภาพชาวไทยที่สนใจเรื่องนี้ได้อ่านกัน ประจวบเหมาะกับการที่ผมได้แนวคิดจากเรื่องนี้ ไปใช้ในการถ่ายภาพ ได้ภาพที่พอดูได้อยู่หลายภาพ แม้ว่าอาจจะดูไม่สวยงามโดดเด่นเหมือนงานของคนถ่ายภาพแนวนี้โดยตรงและมีประสบการณ์สูง แต่ก็ถือว่าดูในฐานะภาพที่เป็นผลจากการนำแนวคิดของ Eric ไปใช้ จึงออกมาเป็นบทความนี้ผสมกันระหว่างเนื้อหาของ Eric และภาพของผม
                ต้นฉบับเดิมของ Eric นั้นได้เขียนเป็นบทเรียน 31 บทสำหรับ 31 วันในการฝึกฝนการถ่ายภาพแนวสตรีท แต่สำหรับผมนั้น อ่านจบต่อเนื่องไปรวดเดียว แล้วก็ไปใช้ในสนามเลย ดังนั้น ในการเรียบเรียงเป็นภาษาไทย จึงขอเปลี่ยนหัวข้อจาก 31 วัน เป็น 31 ขั้นก็แล้วกันครับ
                นับจากบรรทัดนี้ คำว่า “ผม” ในเนื้อหาของเรื่องนี้ จะหมายถึง Eric Kim ผู้เขียนต้นฉบับเรื่องนี้ภาคภาษาอังกฤษนะครับ อ่านแล้วเลือกใช้หรือไม่ใช้กันตามความเหมาะสมกับเวลา เหตุการณ์ สถานที่ และที่สำคัญ แนวทางของแต่ละคนนะครับ สิ่งไหนใช้ไม่ได้หรือไม่เหมาะกับตัวเราก็ไม่จำเป็นต้องนำไปใช้ก็แล้วกันครับ

เกริ่นนำ
ทำไมผมถึงได้เขียนเรื่องนี้ขึ้นมา อ้างถึงหนึ่งในประโยคประทับใจของนักฮ็อกกี้ชื่อดัง Wayne Gretsky “คุณพลาด 100% สำหรับภาพคุณไม่ได้กดชัตเตอร์ถ่ายมัน” ความหมายของมันเยี่ยมมาก ถ้าคุณลงมือถ่าย จะมากจะน้อยคุณยังมีโอกาสได้ภาพที่น่าพอใจบ้าง ไม่ว่าในมุมมองของคุณเองหรือของผู้ที่ดูภาพของคุณ แต่ถ้าคุณไม่ได้ถ่ายเลย ไม่ว่าจะจากสาเหตุอะไรก็ตาม ก็ย่อมไม่มีโอกาสเลยที่จะได้ภาพดังที่ว่านั้น ในการถ่ายภาพ Street Photography หรือถ่ายภาพตามท้องถนนนั้น หนึ่งในปัญหาใหญ่ที่สุดก็คือ ความรู้สึกกลัวไปล่วงหน้าในการที่จะถ่ายภาพคนแปลกหน้าในสถานที่สาธารณะ (โดยไม่ได้รับอนุญาต)


การถ่ายภาพคนแปลกหน้าโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นเรื่องแปลก แนวปฏิบัติทางสังคมส่วนใหญ่ในโลกนี้ สอนเราคล้ายๆ กันว่า เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องในการที่เราจะถ่ายภาพคนอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากบุคคลนั้น (จริงๆ เขาอาจจะไม่ได้พูดถึงการถ่ายภาพโดยตรง แต่เป็นการสอนเรื่องการกระทำที่มีแนวโน้มว่าจะรบกวนหรือละเมิดสิทธิคนอื่น) ความที่เราได้ถูกทำให้รู้สึกเช่นนี้มาแต่แรก ทำให้เรากังวลในผลที่จะเกิดขึ้นถ้าหากว่าเราถ่ายภาพที่ว่านั้น เรากลัวปฏิกิริยาสะท้อนที่จะเกิดขึ้นกับเราหลังจากเราถ่ายภาพผู้คนบนท้องถนนโดยไม่ได้บอกหรือไม่ได้รับอนุญาตจากพวกเขา อาจจะมีความไม่พอใจเกิดขึ้น อาจจะมีการตะโกนด่าเรา หรือแม้แต่เรียกตำรวจมาคุยกับเรา ดังนั้น คนทั่วไป” จึงไม่ค่อยกล้าถ่ายภาพคนแปลกหน้าโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่...ใครว่าพวกช่างภาพแนว Street เป็น คนทั่วไป” กันล่ะเราพิเศษกว่านั้น
ถ้าจะให้ประมาณ ผมอาจจะถ่ายภาพแนว Street ไปมากกว่า 300,000 ภาพในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ในบรรดาภาพถ่ายจำนวนมหาศาลนี้ ผมได้รับปฏิกิริยาด้านลบจริงๆ เพียง 3 ครั้งเท่านั้น ครั้งแรกเป็นชายชราคนหนึ่งคว้ามือของผมไว้แล้วถามว่าผมกำลังทำอะไร ครั้งที่สองผู้ชายคนหนึ่งในดาวน์ทาวเมืองลอสแอนเจลิสกระชากกล้องไปจากผม และครั้งที่สามชายชราชาวจีนเหวี่ยงแขนใส่ท้ายทอยผม (ในขณะที่เขาอยู่บนจักรยาน) เมื่อผมถ่ายภาพเขาด้วยแฟลชในเวลากลางคืน คงไม่ต้องบอกว่า ผมยังคงมีชีวิตอยู่ (อย่างปกดี สุขภาพแข็งแรง) และไม่ได้ถูกชก ถูกแทง หรือโดนฆ่าตาย (อย่างน้อยก็ในขณะนี้) และถ้าคุณจะลองคิดออกมาเป็นตัวเลข ปฏิกิริยาด้านลบแรงสุด 3 ครั้งในระหว่างการถ่ายภาพ 300,000 ภาพ มันคิดออกมาได้แค่ .001% เท่านั้น ซึ่งไม่มีความสำคัญอะไรเลยในทางสถิติ มันมีโอกาสพอๆ กับการที่คุณจะถูกรถชนบนถนน เครื่องบินตกตาย หรือว่าถูกลอตเตอรีนั่นแหละครับ


แต่ในทางตรงกันข้าม ผมได้พบประสบการณ์ที่หาได้ยากเมื่อผมได้ถ่ายภาพคนแปลกหน้า โดยปกติสิ่งหลักๆ ที่ผมทำเมื่อถ่ายภาพผู้คน ก็คือการทำให้พวกเขารู้สึกดี ได้รับการยกย่อง หรือไม่ก็ทำตัวสุภาพอ่อนน้อม มันขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการแสดงออกในขณะที่ถ่ายภาพ ถ้าคุณทำด้วยท่าทางลับๆ ล่อๆ และถูกจับได้ว่าคุณแอบถ่ายเขาอยู่ ผู้คนก็จะเดินหนีไป ถ้าคุณทำให้พวกเขาเห็นว่าคุณถ่ายภาพอย่างเปิดเผย จริงใจ และยิ้มแย้มให้มากๆ เข้าไว้ ผู้คนจะไม่ค่อยมีปฏิกิริยาทางลบต่อคุณ แน่นอนว่าคุณอาจจะเจอทั้งผู้คนที่มองดูการทำงานของคุณเป็นเรื่องสนุกสนาน หรือบางทีก็เจอบางคนที่ขอให้คุณลบภาพพวกเขาออกไป แต่การขอของพวกเขาก็มักจะเป็นการขอด้วยท่าทีที่เป็นมิตรกว่าการที่เห็นคุณถ่ายภาพพวกเขาอย่างไม่น่าไว้วางใจ
จุดประสงค์ของการเขียนเรื่องนี้ ผมต้องการเขียนแนวทาง 31 เรื่อง ซึ่งคุณจะสามารถใช้ปฏิบัติเพื่อเอาชนะความกลัวของคุณในการถ่ายภาพ Street Photography ผมเชื่อมั่นในแนวความคิด ความรู้สาธารณะ” ซึ่งหมายถึง ความรู้ ข้อมูลที่เปิดเผยแบ่งปันอย่างเปิดกว้างและอิสระกับคนอื่นๆ ตอนที่ผมเริ่มต้นถ่ายภาพแนวสตรีทครั้งแรก การเอาชนะความกลัวในการถ่ายภาพบนท้องถนนคืออุปสรรคอันสำคัญที่ผมจะต้องทำให้ได้ ปัจจุบันนี้ ผมไม่มีความรู้สึกกังวลหรือตื่นเต้นใดๆ แม้ในขณะที่กำลังถ่ายภาพใครสักคนในระยะห่างเพียงครึ่งเมตรก็ตาม


ไม่ต้องกังวล คุณจะเริ่มต้นด้วยข้อใดก็ที่คุณรู้สึกว่าคุณชอบ และข้ามอะไรบ้างก็ได้หากว่าคุณรู้สึกไม่ค่อยชอบ แต่เรื่องนี้ได้ถูกเรียงลำดับความยากง่ายไว้ตามลำดับคร่าวๆ แล้ว (ข้อแรกๆ นั้นอนุมานเอาว่าคุณยังอยู่ในภาวะไม่กล้าเลยที่จะออกไปถ่ายภาพแนวสตรีท และข้อหลังๆ จะมีเนื้อหาที่อนุมานว่าความกลัวของคุณเริ่มน้อยลงบ้างแล้ว) โปรดระลึกไว้ว่า การอ่านหนังสือเพียงอย่างเดียวไม่ใช่สิ่งที่จะช่วยคุณให้เอาชนะความกลัวการการถ่ายภาพแนวสตรีทได้ คุณสามารถหาหนังสือเกี่ยวกับวิธีการว่ายน้ำมาอ่านได้เป็นร้อยเล่ม แต่คุณจะไม่ได้เรียนรู้อย่างแท้จริงจนกว่าคุณจะกระโดดลงไปในน้ำแล้วเริ่มต้นว่าย ดังนั้น ผมแนะนำว่า หลังจากอ่านไปแต่ละบทแล้ว คุณควรจะออกไปฝึกภาคปฏิบัติบ้าง จะช่วยได้มาก


ขั้นที่ 1 สรุปให้ชัดเจนว่า คุณกลัวอะไร
ถ้าคุณต้องการที่จะเอาชนะความกลัวในการถ่ายภาพแนวสตรีท อันดับแรกคุณต้องเข้าใจให้ชัดเจนก่อนว่า ทำไมคุณถึงกลัวการถ่ายภาพคนแปลกหน้าบนท้องถนน คุณกลัวว่าผู้คนอาจจะคิดว่าคุณถ่ายภาพพวกเขาไปเพื่อวัตถุประสงค์ที่ไม่ดีใช่หรือไม่ คุณกลัวว่าจะถูกจับหรือมีปัญหาทางกฏหมายหรือไม่ คุณกลัวว่าผู้คนจะรังเกียจคุณใช่หรือไม่
ตอนนี้มาเขียนเหตุผลออกมาเป็นข้อๆ ว่าทำไมคุณกลัวที่จะถ่ายภาพ Street Photography จากนั้นจัดลำดับเหตุผลที่มีน้ำหนักมากที่สุดมา 3 ข้อ แล้วก็พยายามขยายความเหตุผลนั้นเพิ่มเติม ว่าความกลัวของคุณนั้น เป็นความกลัวที่มีเหตุผลรองรับเพียงพอหรือไม่
ต่อไปนี้คือประเด็นความกลัวต่างๆ ที่คุณอาจจะเขียนลงไป
  • กลัวถูกจับ
  • กลัวถูกทำร้ายร่างกาย
  • กลัวว่าจะทำให้คนอื่นจ้องมองเป้าหมายที่คุณจะถ่ายและทำให้เขารู้สึกเป็น ของแปลก
  • กลัวใครมาทำให้กล้องของคุณเสียหาย
  • กลัวถูกด่าหรือถูกตะโกนไล่ด้วยความรำคาญ
  • กลัวการถูกผู้คนมองด้วยสายตาแปลกๆ


ตอนนี้ผมจะลองให้แนวคิดเกี่ยวกับสิ่งที่คุณอาจจะเขียนลงไปว่าคุณกลัวอะไรบ้าง จากประสบการณ์ส่วนตัวในการถ่ายภาพ Street Photography มาเป็นเวลากว่า 5 ปี
1. กลัวถูกจับ
        มันขึ้นอยู่กับว่าคุณอยู่ในประเทศแบบไหน ค้นหากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายภาพแนวสตรีท และทำความเข้าใจกับมันให้ชัดเจน ถ้าคุณอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา คุณก็สิทธิอันสมบูรณ์ในการถ่ายภาพถ้าหากว่าอยู่ในสถานที่สาธารณะ พิมพ์สิ่งเหล่านี้ออกมา แล้วนำมันติดตัวไปกับคุณด้วยเวลาออกไปถ่ายภาพแนวนี้
2. กลัวถูกทำร้ายร่างกาย
        ผมไม่เคยได้ยินว่ามีช่างภาพแนวสตรีทคนไหน ถูกประทุษร้ายร่างกายอย่างรุนแรงจนบาดเจ็บในระหว่างที่กำลังถ่ายภาพคนแปลกหน้าอยู่บนถนน จากประสบการณ์ของผม อย่างที่กล่าวแล้วในตอนแรก มีเพียง 3 ครั้งเท่านั้นที่ผู้คนมีปฏิกิริยาทางร่างกายต่อผมในขณะที่ถ่ายภาพพวกเขา และทั้งหมดนั้น ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไร ผมไม่ได้รับบาดเจ็บ
4. กลัวว่ากล้องของคุณจะเสียหาย
        อีกครั้งที่ผมจะบอกว่า ปกติแล้วผู้คนทั่วไปไม่ใช่คนก้าวร้าว ถ้ามีใครสักคนทำท่าทางไม่พอใจที่คุณถ่ายภาพของพวกเขา แสดงให้เขาเห็นอย่างสุภาพว่า คุณจะลบภาพของพวกเขาออกไป การกระทำแบบนี้ทำให้คนที่ไม่พอใจส่วนใหญ่ไม่ตอแยคุณอีก
5. กลัวถูกด่า หรือตะโกนใส่ด้วยความรำคาญ
        เขาว่ากันว่า ท่อนไม้และก้อนหินทำให้กระดูกผมหักได้ แต่คำพูดไม่สามารถทำให้ผมเจ็บปวดได้” ถ้ามีใครสักคนตะโกนใส่คุณหรือด่าคุณเพราะคุณถ่ายภาพพวกเขา ให้คิดก่อนมีปฏิกิริยาโต้ตอบ แน่นอนว่าคุณอาจจะรู้สึกผิด แต่ในที่สุดมันจะทำให้คุณเจ็บปวดจริงหรือทำให้ร่างกายของคุณมีบาดแผลหรือไม่จงคิดเสียว่า คุณยังคงมีชีวิตอยู่ได้จนจบวัน และชีวิตของคุณก็ดำเนินต่อไป
6. กลัวจะถูกมองด้วยสายตาหวาดระแวง หรือมองแบบแปลกๆ
        เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเห็นใครสักคนมองคุณด้วยสายตาหวาดระแวง ปฏิกิริยาง่ายๆ ที่ควรจะต้องทำ คือการยิ้มตอบไปอย่างสุภาพ สิ่งนี้จะช่วยลบความกลัวออกจากความรู้สึกของคนที่คุณจะถ่ายภาพได้
คิดตรองให้ถี่ถ้วนเกี่ยวกับความรู้สึกกลัวที่คุณมีต่อการถ่ายภาพแนวสตรีท ว่ามันเป็นสิ่งที่มีเหตุผลรองรับอย่างแท้จริงหรือไม่


ขั้นที่ 2 ขออนุญาต
แม้ว่า Street Photography จะสามารถถ่ายได้ด้วยวิธีการถ่ายแบบไม่ให้ตัวแบบรู้ตัว หรือ Candid โดยไม่ต้องขออนุญาตก็ตาม แต่การขออนุญาตถ่ายภาพเป็นวิธีที่ดีที่คุณจะก้าวข้ามความกลัวไปได้ ผมจำได้ถึงช่วงเริ่มต้นในการถ่ายภาพแนวสตรีท และคิด (เอาเอง) ว่าทุกๆ คนไม่ชอบการถูกถ่ายภาพ อย่างไรก็ตาม ผมก็รู้สึกประหลาดใจในปฏิกิริยาโต้ตอบ (ในด้านบวก) ของผู้คนที่ผมได้ขออนุญาตเขาก่อนที่จะถ่ายภาพในแนว Street ดังนั้น ผมจึงชอบออกไปถ่ายภาพโดยใช้วิธีนี้
จากประสบการณ์ของผม ถ้าผมได้ขออนุญาตขอถ่ายภาพพวกเขาพร้อมกับยิ้มให้ด้วย ประมาณ 8 ใน 10 คนจะบอกว่า ถ่ายได้เลย” เมื่อคุณเอ่ยปากขอและได้รับอนุญาตจากคนแปลกหน้าในการถ่ายภาพพวกเขาแล้ว คุณจะสามารถถ่ายภาพจำนวนมากต่อเนื่องไปได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตซ้ำอีกแล้วในการถ่ายภาพต่อๆ ไป หรือเปลี่ยนมุมต่างๆ ยกเว้นพวกเขาบอกคุณว่า พอได้แล้ว


สำหรับการเริ่มต้น ต่อไปนี้คือแนวทางที่น่าจะมีประโยชน์สำหรับการเข้าไปไกลๆ เป้าหมาย และเอ่ยปากขออนุญาตถ่ายภาพพวกเขา

  • ขอโทษนะครับ ใบหน้าคุณสวยมาก จะรังเกียจไหมครับถ้าจะขอถ่ายภาพคุณสักสองสามภาพ
  • ขอโทษนะครับ ผมกำลังเรียนถ่ายภาพอยู่ และได้หัวข้อจากอาจารย์ ให้ถ่ายภาพบุคคลที่ดูพิเศษน่าสนใจ คุณจะอนุญาตให้ถ่ายภาพของคุณได้ไหมครับ
  • ขอโทษครับ ผมรู้ว่าเรื่องนี้ฟังดูแปลกๆ หน่อย แต่ว่าผมรู้สึกชอบดวงตาของคุณมากเลยครับ ขออนุญาตถ่ายภาพคุณหน่อยได้ไหมครับ
  • คุณมียิ้มที่ดูสง่างามมากครับ ผมขออนุญาตถ่ายภาพคุณหน่อยได้ไหมครับ
  • (ถ้าคุณเห็นใครสักคนใส่เสื้อผ้าที่ดูน่าสนใจ) ว้าววว!! ผมไม่เคยเห็นใครชุดแบบนี้แล้วดูดีเหมือนคุณเลย คุณจะรังเกียจไหมครับถ้าผมจะขอถ่ายภาพคุณกับชุดนี้สักหน่อย
  • ผมอยู่ในโปรเจ็คต์ตระเวณถ่ายภาพผู้คนที่แต่งตัวได้โดดเด่นสุดๆ บนท้องถนน คุณจะรังเกียจไหมครับถ้าผมจะขอถ่ายภาพของคุณ

ด้วยการเอ่ยปากพูดถ้อยคำที่มีเนื้อหาทำนองนี้ เท่ากับว่าคุณได้อธิบายเหตุผลที่ชัดเจนว่า เพราะอะไรคุณจึงต้องการถ่ายภาพของพวกเขา (สังเกตดูนะครับ ทุกประโยคแฝงไว้ด้วยการยกย่องให้เกียรติเป็นอย่างมาก) โดยทั่วไปแล้ว ตราบเท่าที่คุณได้แสดงให้ผู้คนเป้าหมายของคุณเห็นว่า คุณไม่ได้มีเจตนาที่ไม่ดี และคุณไม่ได้มีพิษภัยอะไร พวกเขาจะไม่รังเกียจกับการที่ถูกคุณถ่ายภาพ ยิ่งไปกว่านั้น ผู้คนกลับยินดีที่จะถูกถ่ายภาพเสียอีกต่างหาก (ถ้าหากว่าพวกเขารู้สึกพอใจว่า ตัวเองน่าสนใจมากพอจนคุณอยากจะถ่ายภาพพวกเขา ในขณะที่คนอื่นๆ อีกหลายคนถูกคุณมองข้ามไป)


ขั้นที่ 3 อย่าจ้องมอง
เคยไหมที่คุณอยู่ที่ไหนสักแห่งแล้วจู่ๆ ก็รู้สึกแปลกๆ ขึ้นมา เหมือนมีใครสักคนกำลังจ้องมองดูคุณอยู่ และทันทีทันใดนั้นคุณก็หันขวับไป และพบสายตาของคนบางคนกำลังมองมาที่คุณจริงๆ และเมื่อพวกเขาเห็นคุณ พวกเขาหลบสายตาเฉไปมองที่อื่นทันที
มนุษย์เราจะมีสัญชาตญาณพิเศษอยู่อย่างหนึ่งก็คือ เราจะรู้สึกแปลกๆ เวลามีใครสักคนหนึ่งคอยจ้องมองเราอยู่ คนส่วนใหญ่สามารถรู้สึกแบบนี้ได้ และเรายังรู้สึกแบบนี้ได้อีกแม้กับการที่รู้สึกว่าใครสักคนกำลังชำเลืองมองเราด้วยหางตา ดังนั้น ในฐานะคนถ่ายภาพ คุณสามารถใช้เรื่องนี้ในมุมที่เป็นประโยชน์กับตัวคุณได้ อย่าได้มองตรงๆ ในลักษณะจ้องมอง หรือว่าสบตากับผู้คนหากว่าคุณไม่อยากให้พวกเขาสังเกตเห็นคุณในขณะที่กำลังถ่ายภาพแบบ Street Photography ให้แสร้งทำเป็นเหมือนว่าคุณกำลังมองสิ่งอื่นอยู่เสมอ อย่ามองไปทางผู้คนเหล่านั้นนานๆ และอย่ามองบ่อยๆ ให้มองไปทางนั้นน้อยที่สุด และใช้สิ่งที่คุณเห็นมาคิดคำนวณอย่างรวดเร็วว่าคุณจะถ่ายภาพพวกเขาด้วยวิธีใดบ้าง
อย่างไรก็ตาม โปรดระลึกว่า นี่เป็นเทคนิคขั้นต้นสำหรับการเริ่มต้นในการขจัดความกลัวในการถ่ายภาพผู้คนบนท้องถนน ในเทคนิคข้อท้ายๆ หลังจากที่คุณฝึกฝนไประดับหนึ่งแล้ว ผมจะแนะนำวิธีการในการใช้การสบตากับเป้าหมายให้เกิดประโยชน์


ขั้นที่ 4 ถ่ายภาพจากระดับสะโพก
ถ่ายภาพจากระดับเอวหรือสะโพก เป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมมากในการเริ่มต้นอย่างสบายๆ ในการถ่ายภาพบนท้องถนนโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นทางการจากเป้าหมาย อะไรคือการถ่ายภาพจากระดับสะโพก มันเป็นวิธีการพื้นฐานทั่วไปซึ่งคุณทำการถ่ายภาพด้วยกล้องของคุณที่ห้อยหรือถืออยู่ระดับสะโพก ไม่ว่าจะเป็นด้านหน้าหรือด้านข้าง โดยไม่ต้องยกกล้องขึ้นมองวิวไฟเดอร์ ข้อได้เปรียบของเทคนิคนี้ก็คือว่า ผู้คนไม่รู้เลยว่าคุณกำลังถ่ายภาพของพวกเขาอยู่ แต่วินาทีที่คุณยกกล้องขึ้นมาเพื่อถ่ายภาพตามปกติ คนก็จะรู้โดยอัตโนมัติว่า คุณกำลังถ่ายภาพพวกเขาอยู่
แล้วทำอย่างไรคุณจึงจะถ่ายภาพจากระดับสะโพกได้โดยไม่เป็นที่สังเกตล่ะ แรกสุด คุณจะต้องถือกล้องของคุณไว้ด้วยสองมือ หรือไม่ก็สะพายไว้ข้างๆ ตัวตามปกติ แล้วเคลื่อนตำแหน่งกล้องไปในนั้นทั้งด้านซ้ายและขวา หรือตรงกลางแล้วแต่ความเหมะสม อย่างที่สอง เมื่อคุณเริ่มต้นถ่ายภาพจากระดับสะโพก คุณต้องไม่มองไปที่กล้องถ่ายภาพของคุณโดยตรง แต่ให้มองไปทางอื่นแทน และอย่างที่สาม คุณจะต้องมั่นใจว่าคุณได้ตั้งค่าต่างๆ ของกล้องถูกต้อง และคุณกำลังใช้เลนส์ที่เหมาะสมกับการถ่ายภาพลักษณะนี้
ถ้าคุณกำลังถ่ายภาพด้วยกล้อง DSLR จะเป็นการเหมาะสมถ้าหากว่าคุณใช้เลนส์ขนาด 35 มม. หรือกว้างกว่านี้ (เทียบกับกล้องแบบฟูลเฟรม) ดังนั้น ถ้าหากคุณใช้กล้องตัวคูณ ซึ่งค่าทางยาวโฟกัสเลนส์จะถูกคูณด้วย 1.6 คุณต้องการเลนส์อย่างน้อย 24 มม. หรือ 28 มม. ติดอยู่บนกล้องของคุณ (ซึ่งจะคิดทางยาวโฟกัสเลนส์คร่าวๆ ได้ประมาณ 35 มม. หลังจากคูณ 1.6 แล้ว) ถ้าคุณมีกล้องฟูลเฟรม คุณสามารถถ่ายภาพได้ทั้งการใช้เลนส์ 35 มม. หรือ 24/28 มม. เหตุผลก็คือเมื่อคุณถ่ายภาพจากระดับสะโพก การจัดองค์ประกอบและวางตำแหน่งวัตถุจะทำได้ยากขึ้นกว่าการถ่ายด้วยการมองในวิวไฟเดอร์ ถ้าคุณใช้เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสสูงเกินไป จะทำให้คุณไม่สามารถจัดเฟรมภาพได้ถูกต้อง ปกติการถ่ายภาพจากระดับสะโพก การถ่ายให้ หลวม” ไว้ก่อนจะมีประโยชน์กว่าการพยายามถ่ายให้พอดี โดยการนำมา Crop หรือไม่ก็ปรับระดับเสียใหม่ภายหลังด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การพยายามถ่ายให้พอดีด้วยเทคนิคนี้ จะเสี่ยงกับการไม่ได้ภาพที่ต้องการเลยมากกว่าการถ่ายแบบ หลวม” ดังนั้น เลนส์มุมกว้างดังกล่าว จึงเอื้ออำนวยให้มีโอกาสได้ภาพที่ดีมากขึ้น


สิ่งที่คุณต้องทำต่อไปในการถ่ายภาพด้วยเทคนิคนี้ คือการตั้งค่าที่ถูกต้องให้กับกล้องของคุณ โดยทั่วไป สิ่งแรกที่ผมทำก่อนอย่างอื่นทั้งหมด ก็คือการตั้งค่าระยะห่างระหว่างกล้องถึงตัวแบบด้วยระบบแมนนวลโฟกัส ดังนั้นถ้าหากคุณคำนวณว่าคุณกำลังถ่ายภาพคนที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 5 ฟุต ก็ให้ตั้งค่าระยะ 5 ฟุตบนเลนส์ของคุณด้วยระบบแมนนวลโฟกัส หลังจากนั้น ตั้งค่ารูรับแสงด้วยระบบ AV ที่ f/16 จะทำให้คุณมีระยะชัดลึกที่ยึดหยุ่นมากพอสำหรับการคำนวณระยะโฟกัสที่อาจจะคลาดเคลื่อนไปสักเล็กน้อย หลังจากนั้นคุณต้องการการตั้งค่า ISO ไปที่ประมาณ 800-1600 (ขึ้นอยู่กับปริมาณแสงในขณะนั้นเป็นปัจจัยสำคัญ) โดยปกติคุณต้องการค่าISO ที่สูงพอที่จะให้ค่าความไวชัตเตอร์ที่ประมาณ 1/320 วินาที ขึ้นไป (ซึ่งจะสามารถจับภาพเป้าหมายของคุณได้นิ่งสนิทแม้ว่าพวกเขาจะเคลื่อนไหว หรือแม้แต่ตัวคุณเองเคลื่อนไหวเล็กน้อยด้วย เพื่อให้การถ่ายภาพเป็นไปอย่างเป็นธรรมชาติไม่ถูกสังเกตเห็น)
เมื่อตั้งค่าต่างๆ เรียบร้อยแล้ว สิ่งที่คุณต้องทำต่อไปก็คือการลงมือถ่ายภาพ เมื่อคุณเข้าใกล้เป้าหมายที่คุณต้องการ อย่ามองตรงๆ ไปที่พวกเขาเป็นอันขาดในขณะที่ถ่ายภาพจากระดับเอว เข้าไปใกล้และหันกล้องของคุณตรงไปที่พวกเขา พยายามทดลองมุมและตำแหน่งที่แตกต่างกัน (ก่อนการออกไปถ่ายจริง) ว่าแต่ละมุมหรือแต่ละตำแหน่งให้ผลที่แตกต่างกันอย่างไร ถือหรือห้อยกล้องของคุณไว้ข้างตัวและถ่ายภาพผู้คนในขณะนั่งอยู่บนม้านั่ง หรือถ่ายภาพในระดับอกของเป้าหมายของคุณ
ถ่ายภาพจากระดับสะโพกเป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมในการถ่ายภาพบนท้องถนนได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณต้องการภาพแนวที่ให้ความรู้สึกเป็น Candidอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณคุ้นเคยกับการถ่ายภาพแนวนี้มากยิ่งขึ้นไปอีกระดับ ผมแนะนำให้คุณลดการถ่ายภาพประเภทนี้ให้น้อยลงไป เพราะอะไรหรือ ก็เพราะว่าลำพังเฉพาะมือของคุณนั้น ไม่สามารถจะวางตำแหน่งและจัดองค์ประกอบได้ดีเท่ากับตาของคุณนั่นเอง

ขั้นที่ 5 แสร้งทำเป็นว่าคุณกำลังถ่ายภาพอย่างอื่น
อีกเทคนิคหนึ่งที่เหมาะสำหรับการถ่ายภาพด้วยเลนส์มุมกว้าง คือการเข้าไปใกล้คนที่คุณอยากถ่าย และทำทีเป็นว่าคุณกำลังถ่ายภาพสิ่งอื่นที่ไม่ใช่ตัวเขาอยู่ กุญแจหลักที่จะทำให้ประสบความสำเร็จด้วยวิธีนี้ คือการใช้ภาษากายในการแสดงออกเพื่อให้เขาเข้าใจว่าคุณกำลังถ่ายภาพ สิ่งอื่น
ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณเห็นใครสักคนกำลังนั่งอยู่ใกล้ๆ กับโปสเตอร์ที่ดูน่าสนใจ ให้คุณจ้องมองไปที่โปสเตอร์จากระยะไกล (ในขณะที่คุณก็ต้องมองไปที่คนคนนั้นในเวลาเดียวกัน เพียงแต่ไม่ได้มองไปตรงๆ ที่ตัวเขาเท่านั้น) จากนั้นค่อยๆ เริ่มต้นเดินช้าๆ เข้าไปยังตำแหน่งนั้น โดยที่สายตายังคงจ้องมองอยู่ที่โปสเตอร์ ค่อยๆ ย่อตัวลง และจัดตำแหน่งวัตถุในภาพโดยให้รวมทั้งโปสเตอร์และคนคนนั้นเข้าไปด้วย จากนั้นลุกยืน จ้องมองดูที่โปสเตอร์อีกครั้ง แล้วก็เดินจากมาด้วยท่าทางปกติ
ถ้าหากว่าคุณหันกลับมอง (หรือว่าใครสักคนเห็นเหตุการณ์ทั้งหมดนี้) และดูว่าคนคนนั้นมีปฏิกิริยาอย่างไร สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ คนที่คุณเพิ่งถ่ายภาพเขาไป หันหน้าไปมองโปสเตอร์นั้น ยักไหล่เล็กน้อย และดำเนินชีวิตของเขาต่อไป
เคล็ดลับของวิธีนี้ก็คือ คนทั่วไปที่ไม่ใช่นักถ่ายภาพด้วยกัน ไม่รู้หรอกว่า เลนส์มุมกว้างนั้น มีความสามารถขนาดไหนในการรวมรวมเอาพื้นที่และวัตถุจำนวนมากเข้าไปไว้ในเฟรมเดียวกัน เรานักถ่ายภาพเท่านั้นที่รู้ว่า มันกว้างจนเกินความคาดหมายของคนทั่วไปเป็นอย่างมาก พวกเขานึกว่าตัวเองไม่เกี่ยวข้องกับการถ่ายภาพภาพนั้น แต่ที่จริงแล้ว เราให้เขาเป็นส่วนหนึ่งในภาพเรียบร้อยแล้ว


ขั้นที่ 6 ถ่ายภาพในขณะสวมหูฟัง
            ทิปหนึ่งที่ผมเคยได้ยินจากช่างภาพแนวสตรีทผู้ซึ่งกำลังพยายามเอาชนะความไม่กล้าของพวกเขาในการถ่ายภาพตามท้องถนน คือการถ่ายภาพโดยที่สวมหูฟังไปด้วย แม้ว่าจริงๆ แล้วคุณจะไม่ชอบการถ่ายภาพโดยสวมสิ่งนี้อยู่เลยก็ตาม (คุณอาจจะพลาดโอกาสได้ภาพดีๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นรอบๆ ตัว ซึ่งปกติคุณจะได้ยินเสียงของเหตุการณ์นั้นแล้วหันไปถ่ายภาพ) คุณไม่จำเป็นต้องสวมหูฟังไว้ตลอดเวลาก็ได้ แค่เข้าไปในพื้นที่ที่คุณจะถ่ายภาพแล้วหยิบมันขึ้นมาสวมเฉพาะกิจก็พอ จากนั้นก็เริ่มถ่ายภาพ
เมื่อผู้คนเห็นคุณถ่ายภาพโดยสวมหูฟังเอาไว้ด้วย พวกเขาจะพากันคิดว่าคุณไม่ได้ยินเสียงที่เขาพูดกัน และถ่ายภาพของพวกเขาแบบเพลินๆ ไม่จริงจังอะไร และถ้ายังมีบางคนที่ยังรู้สึกไม่พอใจที่คุณถ่ายภาพพวกเขาแล้วเริ่มต้นพูดไม่ดีกับคุณ คุณก็ยังคงอยู่ในอารมณ์สบายๆ ได้ด้วยเสียงเพลงที่ก้องอยู่ในหูของคุณอยู่ดี

ขั้นที่ 7 ยิ้ม
ในสังคมสมัยใหม่ เป็นเรื่องยากที่จะได้รับคำทักทาย สวัสดี” หรือรอยยิ้มจากคนแปลกหน้า อย่างไรก็ตาม เมื่อใดก็ตามที่สิ่งที่ว่าเกิดขึ้น มันก็ทำให้เกิดความรู้สึกดีๆ ได้ ผมยังจำเหตุการณ์ในวันหนึ่งได้ ผมกำลังเดินกลับบ้าน เห็นชายคนหนึ่งท่าทางดูมอซอและหยาบกระด้าง นั่งอยู่บนม้านั่งและจ้องมองไปยังผู้คนที่สัญจรไปมา ผมไม่รู้ว่าทำไม แต่ความรู้สึกบางอย่างบอกให้ผมยิ้มให้เขาและยกมือขึ้นโบกพร้อมคำว่า สวัสดี” ผมประหลาดใจไม่น้อยที่ได้เห็นชายร่างใหญ่ หนักราวๆ 250 ปอนด์ ร่างกายเต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ มองมาที่ผมและยิ้มตอบผมด้วยท่าทาง สีหน้า แววตาที่เหมือนเด็กๆ มีความสดใสอยู่บนใบหน้าของเขา สิ่งที่เห็นนั้นก็ทำให้ผมรู้สึกอบอุ่นและสบายใจ
ในฐานะมนุษย์ เราอยู่โดยต้องมีความเกี่ยวพันไม่ทางใดก็ทางหนึ่งกับสังคมมนุษย์ ถ้าคุณยิ้มให้ใครสักคน คุณได้แสดงให้คนคนนั้นเห็นว่าคุณไม่ได้เป็นพิษเป็นภัยกับเขา และพร้อมจะเป็นมิตรกับเขา ถ้าคุณยิ้มให้คนอื่นเป็นประจำ คุณจะพบว่าคนส่วนใหญ่จะยิ้มตอบกลับมาให้คุณ แม้ว่าจะไม่เคยรู้จักกันมาก่อนก็ตาม
ขณะที่คุณกำลังถ่ายภาพ ยิ้มไว้ให้เป็นปกติวิสัย ด้วยวิธีการยิ้มนี้ ถ้าใครสักคนสังเกตเห็นว่าคุณกำลังถ่ายภาพเขาอยู่ ก็ยิ้มให้เขาไปตรงๆ และกล่าวคำ ขอบคุณโดยปกติการกระทำแบบนี้จะทำให้พวกเขาคลายความสงสัยในตัวคุณ และจะเพิ่มความเชื่อในตัวคุณในฐานะ ช่างภาพ” มากขึ้น (โดยทั่วไปแล้ว ผู้คนมักจะให้การยอมรับและยินยอมให้ถ่ายภาพหากว่าเขาเชื่อว่าคุณเป็น ช่างภาพ” จริงๆ แต่ที่พวกเขาไม่ค่อยยอมให้ถ่ายเพราะว่าไม่รู้ว่าคุณคิดจะทำอะไรต่างหาก) อย่าใช้เทคนิคนี้เฉพาะเวลาถ่ายภาพบนท้องถนนเท่านั้น แต่ให้ใช้ในชีวิตประจำวันทุกๆ วันของคุณด้วย คุณประหลาดใจในผลที่ได้จากการขยับกล้ามเนื้อเพียงไม่กี่มัดที่ปากของคุณ เพื่อ ยิ้ม” ให้คนอื่น


ขั้นที่ 8 สนทนากับพวกเขาหลังจากถ่ายภาพเสร็จ
Alfred Eisenstaedt เคยกล่าวไว้ว่า บันทึกความรู้สึกที่ดีให้คนที่คุณจะถ่ายภาพ สำคัญกว่าการบันทึกภาพ” แม้ว่าผมจะชอบถ่ายภาพผู้คนบนท้องถนน แต่แท้จริงแล้วผมชอบที่จะพูดคุยกับพวกเขามากกว่า ถ้าหากคุณถ่ายภาพของใครบางคน เท่ากับคุณบันทึกส่วนหนึ่งของจิตวิญญาณพวกเขาลงไปในภาพ และอาจจะทำให้พวกเขารู้สึกไม่มั่นใจว่า คุณจะเอาภาพของพวกเขาไปทำอะไร การได้สนทนากับผู้คนเหล่านั้นหลังจากที่คุณได้ถ่ายภาพพวกเขาเสร็จแล้ว เท่ากับคุณได้เชื่อมโยงความเป็นสัตว์สังคมกับพวกเขา และคุณอาจจะได้ฟังเรื่องราวของชีวิตที่น่าสนใจจากพวกเขาก็เป็นได้ แม้ว่าผมจะไม่ได้พูดคุยกับคนทุกคนที่ผมถ่ายภาพไป แต่ผมก็พยายามทำเช่นนั้นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
หลังจากถ่ายภาพใครสักคนแล้ว ยิ้มให้พวกเขา คุณอาจจะเริ่มบทสนทนาด้วยการถามง่ายๆ ว่า วันนี้เป็นไงบ้างครับ” หรืออาจจะเป็นเรื่องดินฟ้าอากาศก็ได้ แม้ว่าสองเรื่องนี้จะดูเป็นเรื่องพื้นๆ ที่ใครๆ เขาก็ยกมาเปิดฉากสนทนากันก็อย่าไปกังวล คนส่วนใหญ่ก็เริ่มต้นกันด้วยหัวข้อพูดคุยทำนองนี้ทั้งนั้น คู่สนทนาเราก็คุยกับเราได้ง่ายด้วยเพราะไม่ต้องคิดมาก และทำตัวให้เป็นธรรมชาติ อย่ามุ่งหวังผลประโยชน์อะไรจากการพูดคุยกับพวกเขา เปิดฉากสนทนา แล้วพยายามฟังให้มากกว่าพูด


ขั้นที่ 9 ถ่ายภาพด้วยกล้องขนาดเล็ก หรือไม่ก็ iPhone
ยิ่งกล้องของคุณมีขนาดใหญ่ ก็ยิ่งดูน่ากลัวและดูเป็นการคุกคามสำหรับคนจำนวนหนึ่งที่คุณจะถ่ายภาพพวกเขาบนท้องถนน ดังนั้นถ้าคุณอยากให้ผู้ถูกถ่ายภาพรู้สึกผ่อนคลาย ลองถ่ายภาพด้วยกล้องตัวเล็กๆ ดู กล้อง Point-and-shoot บางรุ่นที่มีขนาดกะทัดรัดแต่ให้คุณภาพสูงน่าจะเป็นตัวเลือกที่ดี มองหากล้องชนิดนี้ เลือกรุ่นที่ติดเลนส์มุมกว้างมากๆ และมีขนาดรูรับแสงที่กว้างที่สุดเท่าที่คุณจะหาได้ ยิ่งได้สีดำแบบเรียบๆ ที่ดูไม่สะดุดตาได้ยิ่งดี การใช้เลนส์มุมกว้างอย่าง 28 มม. หรือ 24 มม. หรือกว้างกว่านี้ ทำให้คุณสามารถเข้าใกล้ตัวแบบได้มากขึ้น และผลพิเศษของเลนส์ที่กว้างมากๆ จะทำให้ได้ภาพผู้คนที่ดูน่าสนใจเป็นพิเศษ
คำแนะนำนอกเหนือจากนี้ก็คือ ลองใช้สมาร์ทโฟนที่มีกล้องคุณภาพสูงๆ หรือไม่ก็ iPhone ในการถ่ายภาพแนวสตรีทดู มันได้ผลดีก็เพราะว่าคุณสามารถแสร้งทำว่าคุณกำลังใช้โทรศัพท์ของคุณพิมพ์ข้อความหรือไม่ก็อ่านเว็บอยู่ ในขณะที่จริงๆ แล้วคุณกำลังถ่ายภาพผู้คนข้างหน้าคุณอยู่ต่างหาก ไม่เพียงเท่านั้น แต่คุณยังสามารถพกกล้องเล็กๆ หรือสมาร์ทโฟน หรือ iPhone ไปได้ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งนั่นจะทำให้คุณมีโอกาสมากขึ้นในการถ่ายภาพ Street Photography ดีๆ ได้

ขั้นที่ 10 ออกไปถ่ายภาพกับเพื่อน หรือไปกันเป็นกลุ่ม
เมื่อคุณออกไปถ่ายภาพแนวสตรีทพร้อมกับกลุ่มของคุณ จะเป็นการเพิ่มความสนุกสนานมั่นใจในการเข้าหาเป้าหมายของคุณมากยิ่งขึ้น เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้คือ การกระจายความรับผิดชอบ” คุณไม่ต้องรับแรงกดดันจากตัวแบบเป้าหมายของคุณเพียงคนเดียว คุณจะรู้สึกผ่อนคลายยิ่งขึ้นในการถ่ายภาพคนแปลกหน้า เพราะว่าคนอื่นๆ ก็กำลังทำสิ่งเดียวกันกับคุณ ไม่เพียงเท่านั้น เรื่องความปลอดภัย คุณก็ไม่ต้องกังวลเหมือนกับการออกไปถ่ายภาพคนเดียว เพราะว่าหากคุณเกิดปัญหากับอะไรหรือใครสักคนในขณะถ่ายภาพ คุณก็มีเพื่อนหรือกลุ่มของคุณเป็นกองหนุนอยู่ข้างหลัง ซึ่งมันจะช่วยได้มาก
การออกไปถ่ายภาพแนวสตรีทเป็นกลุ่มนั้น จำนวนที่เหมาะสมของสมาชิกในกลุ่มอยู่ที่ประมาณ 3 คน ถ้าหากว่ากลุ่มที่ไปด้วยกัน มีจำนวนสมาชิกมากเกินไป อาจจะเป็นไปได้ว่าคนที่ไปด้วยกับคุณอาจจะรบกวนหรือทำให้คุณเสียสมาธิเสียเอง หากว่าคุณต้องการความเป็นส่วนตัว แต่ก็ไม่ต้องการฉายเดี่ยวเช่นเดียวกัน ถ้าเช่นนั้น ก็ชวนใครสักคนที่อยากออกไปถ่ายภาพแนวเดียวกับคุณ เพียงคนเดียวก็พอแล้ว
การถ่ายภาพกับกลุ่ม (หรือคู่ของเรา ในกรณีไปกันสองคน) จะช่วยให้เกิดการส่งเสริมให้กำลังใจกันและกัน เพิ่มความกล้าหาญให้กันและกันในการถ่ายภาพ และกล้าเข้าใกล้ตัวแบบของคุณมากยิ่งขึ้น ถ้าคุณไม่มีคู่หูเจ้าประจำที่ออกไปถ่ายภาพบนท้องถนนกับคุณได้ทุกๆ ครั้งที่คุณอยากไป ลองติดต่อคนที่กำลังมองหาสิ่งเดียวกันกับคุณดู เฟซบุ๊ค เว็บบอร์ด ฟอรั่ม ที่คุณเป็นสมาชิกประจำอยู่ หรือที่รวมคนชอบถ่ายภาพอาจจะเป็นคำตอบให้คุณได้


ขั้นที่ 11 ทำตัวให้ดูเหมือนนักท่องเที่ยว
รูปแบบธรรมดาสามัญของนักท่องเที่ยวที่เห็นกันดาดๆ ทั่วไปก็ประมาณว่า สวมหมวกปีกกว้างใหญ่ๆ ใส่กางเกงขาสั้น สวมรองเท้าแตะแบบสบายๆ คนทั่วไปจะไม่สนใจหรือให้ความสำคัญกับนักท่องเที่ยวมากนัก แม้ว่าคนกลุ่มนี้จะห้อยกล้องไว้ที่คอและถ่ายภาพสิ่งโน้นสิ่งนี้อยู่ตลอดเวลาก็ตาม ดังนั้น ถ้าคุณทำใจยอมรับได้กับการแต่งตัวให้เหมือนนักท่องเที่ยว ผู้คนที่คุณจะถ่ายภาพพวกเขา ก็จะไม่ค่อยให้ความสนใจคุณมากนัก คุณจะทำงานได้สบายขึ้น แต่อาจจะดูเท่น้อยลงเท่านั้นเอง
ถ้าหากว่าในคราบนักท่องเที่ยว แล้วยังมีคนทำท่าไม่พอใจที่คุณถ่ายภาพเขาอยู่อีก ก็แค่บอกเขาว่า คุณเป็นนักท่องเที่ยว และขอโทษที่รบกวนเขา คนส่วนใหญ่ก็จะเข้าใจและไม่ค่อยถือสาหาความคุณมากนัก หลังจากนั้นก็แค่ยิ้มและเดินจากมาช้าๆ พร้อมกับถ่ายภาพสิ่งโน้นสิ่งนี้ไปเรื่อยๆ เท่านั้นเอง


ขั้นที่ 12 ทำท่าเหมือนสับสนหรือหลงทาง หลังจากถ่ายภาพใครสักคน
เทคนิคหนึ่งที่ใช้ได้ผลดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนที่ถ่ายภาพใครสักคนบนท้องถนน ก็คือการทำท่าให้ดูเหมือนงงๆ และหลงทางหลังจากที่ถ่ายภาพเสร็จแล้ว ยกตัวอย่างเช่น เมื่อผมจะถ่ายภาพคนที่ผมหมายตาไว้ ผมจะเข้าไปให้ใกล้ๆ เขา ย่อตัวลงแล้วถ่ายภาพ หลังจากถ่ายภาพแล้วก็ทำท่าหันซ้ายหันขวาเหมือนนึกอะไรขึ้นมาได้ ทำท่าคล้ายๆ กับกำลังงงหรือหลงทาง หรือพลัดแยกกับกรุ๊ปทัวร์ โดยทั่วไปคนที่เห็นคุณทำแบบนี้จะคิดว่าคุณเดินเที่ยวเพลินและพลัดหลงกับกลุ่มของคุณ พวกเขาจะสนใจพฤติกรรมหลงทางของคุณที่แสดงออกทีหลัง มากกว่าจะสนใจการที่คุณถ่ายภาพไปก่อนหน้านี้

ขั้นที่ 13 ทำท่าหัวเสียใส่กล้องของคุณในระหว่างถ่ายภาพ
ผมดูยูทูป และเห็นวิดีโอของ Garry Winogrand ตอนที่เขาถ่ายภาพแนวสตรีท เขาทำท่าหงุดหงิดหัวเสียและทำท่าพยายามปรับกล้องของเขาในขณะที่กำลังถ่ายภาพคนแปลกหน้า (ในระยะใกล้มากๆ) แม้ว่าจริงๆ แล้วเขากำลังถ่ายภาพคนที่อยู่ข้างหน้าเขานั่นแหละ แต่มันดูเหมือนว่าเขากำลังพยายามปรับกล้องของเขาอยู่ และกำลังพยายามทดสอบดูว่า มันทำงานผิดปกติหรือไม่
คุณสามารถลองเทคนิคเดียวกันนี้ หลังจากถ่ายภาพของใครสักคน แล้วให้ยกกล้องของคุณขึ้นมาจ้องมอง หมุนมันพลิกไปพลิกมา แล้วพยายามทำท่ากดปุ่มโน่นนี่หลายๆ ปุ่มให้ดูวุ่นวายเข้าไว้ มันจะทำให้คนเข้าใจว่าคุณอาจจะกำลังปรับกล้อง หรือแก้ไขอาการขัดข้องของกล้อง โดยไม่ได้ถ่ายภาพอะไรด้านหน้าคุณเลย ถ้าคุณจะลองทำเทคนิคนี้ ก็ลองถ่ายภาพ แล้วทำท่าหงุดหงิดเหมือนกล้องใช้การไม่ได้ ทำซ้ำๆ กันไปเรื่อยๆ ถ้าอยากเห็นตัวอย่างจากช่างภาพตัวจริงที่ใช้เทคนิคนี้ ลองเข้ายูทูป แล้วค้นหาคำว่า Garry Winogrand ดูเองก็แล้วกัน คุณจะเข้าใจวิธีการใช้เทคนิคนี้ดียิ่งขึ้น


ขั้นที่ 14 สบตากับผู้คน
ถ้าหากว่าคุณต้องการสร้างความกล้าหาญของคุณในการถ่ายภาพแนวผู้คนบนท้องถนน แบบฝึกหัดที่ยอดเยี่ยมอย่างหนึ่งคือการฝึกการสบสายตากับผู้อื่น เหตุผลของเทคนิคนี้ก็คือ โดยทั่วไปช่างภาพแนวสตรีทมือใหม่ มักจะกลัวอย่างมากในการที่จะให้คนอื่นเห็นว่าเขากำลังถ่ายภาพใครสักคนอยู่ ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดที่จะเอาชนะความกลัวนี้ ก็คือวิ่งเข้าไปหามันเสียเลย
ครั้งต่อไปที่คุณอยู่ในที่สาธารณะ เช่น รถโดยสารหรือรถไฟใต้ดิน และมีคนนั่งอยู่ตรงข้ามกับคุณ ลองมองดูเขาแบบเปิดเผย ผมไม่ได้หมายความว่าให้คุณจ้องมองดูเขาแบบคุกคามทำให้น่ากลัว แต่แค่เพียงมองตรงเข้าไปที่ดวงตาเขาอย่างสุภาพ ถ้าเขาสังเกตเห็นคุณ และมองตอบกลับมาที่คุณ อย่าหลบสายตาไปทางอื่น ให้มองเขานิ่งๆ แล้วยิ้ม ตามด้วยการพูดทักทาย ประเภท สวัสดี” เป็นต้น คนส่วนใหญ่จะมีปฏิกิริยาโต้ตอบในทางบวกกับการกระทำแบบนี้ แต่บางคนก็จะเปลี่ยนสายตาของเขาไปทางอื่นแทน ถ้าหากว่าคุณลองมองใครและพวกเขามีปฏิกิริยาทางลบให้คุณเห็น ให้ทำท่าทางปกติแล้วขอโทษเขาว่า คุณนึกว่าเขาเป็นใครสักคนที่คุณเคยรู้จัก (ส่วนใหญ่แล้วคุณจะไม่พบเหตุการณ์แบบนี้หรอก) หลังจากที่คุณได้เรียนรู้และเข้าใจแล้วว่า การสบตากับคนแปลกหน้านั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่ยากนัก คุณก็สามารถทำเช่นนี้ได้ในเวลาออกไปถ่ายภาพบนท้องถนน และแน่นอนว่า จำนวนคนที่คุณจะขอถ่ายภาพได้ และให้ความร่วมมือกับคุณเป็นอย่างดี ก็จะมากยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน

ขั้นที่ 15 เข้าไปให้ใกล้จริงๆ (ด้วยเลนส์เดี่ยวมุมกว้าง)
ช่างภาพแนวสตรีทที่มีชื่อเสียง Robert Capa เคยกล่าวไว้ครั้งหนึ่งว่า "ถ้าภาพของคุณยังไม่ดีพอ นั่นแปลว่าคุณยังไม่เข้าไปใกล้ตัวแบบมากพอ” เมื่อผมมองดูผลงานของช่างภาพแนวสตรีทที่ไม่ใช่มืออาชีพจำนวนมาก พวกเขาไม่ได้เข้าไปใกล้มากพอ อีกทั้งภาพของพวกเขาให้ความรู้สึกห่างไกลและปราศจากความเชื่อมโยงระหว่างตัวแบบกับกล้องหรือคนถ่ายภาพ
ขั้นแรกที่จำเป็นสำหรับเทคนิคนี้ คือการมีเลนส์เดียวมุมกว้างสักตัว ถ้ากล้องคู่ใจของคุณเป็นกล้อง DSLR แบบตัวคูณ ผมแนะนำเลนส์ 24 มม. หรือ 28 มม. ซึ่งจะให้มุมมองเมื่อถ่ายภาพจริงประมาณ 35 มม. ถ้าคุณใช้กล้องแบบฟูลเฟรม ผมแนะนำให้เริ่มต้นกับเลนส์เดี่ยว 35 มม. ผมรู้สึกว่า เลนส์ 35 มม. เป็นทางยาวโฟกัสระยะที่เหมาะสมที่สุดสำหรับภาพแนวสตรีท มันจะเป็นเลนส์เอนกประสงค์สำหรับงานนี้ได้เป็นอย่างดี สามารถใช้ถ่ายเพื่อเก็บฉากหลังได้กว้างมากเมื่อถ่ายในระยะห่างออกมา และเมื่อต้องการจะถ่ายแบบเข้าใกล้วัตถุ มันก็ให้ภาพถ่ายระยะใกล้ที่เยี่ยมยอดเช่นเดียวกัน


การใช้เลนส์เดี่ยวมุมกว้างถ่ายภาพแนวสตรีทมีประโยชน์หลายอย่าง แรกสุด คุณประหยัดเวลาในการที่จะต้องคอยมาหมุนกระบอกเลนส์ซูมเข้าออกเพื่อถ่ายภาพในเวลาที่ต้องการความฉับไว ต่อมาคือ ในเมื่อคุณไม่สามารถซูมเลนส์ได้ มันก็จะเป็นการท้าทายให้คุณเข้าไปใกล้เป้าหมายของคุณ และถ่ายภาพคนคนนั้น ซึ่งจะทำให้ได้ภาพที่รู้สึกใกล้ชิดและสัมผัสความรู้สึกได้มากกว่า อีกอย่างหนึ่ง (ยังมีข้อดีอีกเยอะที่ยังพูดถึงไม่หมด) ก็คือ เลนส์เดียวมักมีขนาดเล็กกว่าเลนส์ซูม และนั่นทำให้เป้าหมายของคุณไม่รู้สึกตื่นตกใจมากนักเวลาที่คนถือกล้องเดินเข้าไปหาพวกเขา


ขั้นที่ 16 พูดอะไรสักอย่างก่อนที่คุณจะถ่ายภาพใครสักคน
เทคนิคอีกอย่างหนึ่งที่ช่วยให้ผู้คนรู้สึกผ่อนคลายก่อนที่คุณจะถ่ายภาพพวกเขาก็คือ การพูดอะไรกับเขาสักเล็กน้อยก่อนจะเริ่มต้นกดชัตเตอร์ ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณเห็นผู้ชายคนหนึ่งที่มุมถนน เขาสวมหมวกที่ดูน่าสนใจมาก ทางที่ดีคือบอกเรื่องนี้ให้เขารู้ก่อนจะถ่ายภาพเขา เข้าไปใกล้ๆ เขาช้าๆ จากนั้นพูดว่า หมวกของคุณสวยมากแล้วค่อยถ่ายภาพสักสองสามภาพ คนส่วนใหญ่จะยอมให้ถ่ายตามสบายและรู้สึกมีความสุขที่คุณได้ให้ความสนใจถ่ายภาพพวกเขา อาจจะมีบ้างเหมือนกันที่มีคนไม่มีปฏิกิริยาทางบวกต่อเทคนิคนี้ คือพูดกับเขา หรือชมเขา ก็เฉยอย่างเดียว แต่ว่าโดยทั่วไปแล้ว มันได้ผลดีมากกว่าล้มเหลว

ขั้นที่ 17 อย่าเอ่ยปากขออนุญาต
คำนิยามทั่วไปของการถ่ายภาพ Street Photography มีหลายอย่าง คำนิยามหลักๆ ในจำนวนนั้นคือการถ่ายภาพทีเผลอและไม่ต้องได้รับอนุญาต เทคนิคนี้เกี่ยวข้องกับความสมจริงสมจังของตัวแบบ การเอ่ยปากขออนุญาตเมื่อจะถ่ายภาพคนที่กำลังทำอะไรสักอย่างอยู่นั้น อาจจะเป็นการไปเปลี่ยนแปลงกิริยาท่าทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอารมณ์ของจริงในขณะที่พวกเขากำลังทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่อย่างตั้งใจ ตัวอย่างเช่น ลองนึกถึงเพื่อนหรือคนรู้จักที่คุณเคยถ่ายภาพพวกเขาด้วยท่าทางการโพสและการยิ้มแบบเดิมๆ ทุกครั้งที่เขาตั้งท่าให้คุณถ่ายภาพ มันก็ดูดี แต่ก็จะเหมือนๆ กันแทบทุกครั้งที่คุณถ่ายภาพเขา เพราะนั่นคือการแสดงท่าทาง เวลาที่คนตั้งใจโพสท่าให้คุณถ่าย คุณจะไม่สามารถมองลึกไปถึงตัวตนตามธรรมชาติของเขาได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณถ่ายภาพพวกเขาแบบแอบถ่าย คุณจะเห็นภาพสะท้อนบุคลิกภาพที่แท้จริงของเขา ซึ่งดูเป็นธรรมชาติกว่า


ขั้นที่ 18 โฟกัสที่ส่วนอื่นๆ ของร่างกายบ้าง
เมื่อคุณกำลังถ่ายภาพผู้คนบนท้องถนน จะต้องไม่เน้นการถ่ายเฉพาะใบหน้าของตัวแบบ ลองเพ่งจุดสนใจไปที่อวัยวะอื่นๆ ดูบ้าง ถ่ายรองเท้า ถ่ายมือ ขา และแม้กระทั่งเส้นผม คนบางคนจะไม่ค่อยอยากให้คุณถ่ายภาพใบหน้าของพวกเขา แต่ไม่ได้ว่าอะไรถ้าคุณจะถ่ายภาพส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เสื้อผ้า ทรงผม เครื่องประดับ ที่พวกเขาสวมใส่อยู่ โดยที่ดูไม่รู้ว่าเป็นตัวเขาอยู่ในภาพของคุณ


ขั้นที่ 19 ถ่ายภาพในสถานที่จอแจ
การถ่ายภาพแนวสตรีทในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่านจอแจ กลับเป็นการง่ายกว่าถ่ายในสถานที่ที่มีคนน้อย ถ้ามีคนจำนวนมากอยู่รอบตัวคุณ ก็เป็นการง่ายที่จะทำตัวกลมกลืนไปกับฝูงชน และคนทั่วไปก็จะไม่ค่อยสังเกตเห็นว่าคุณถ่ายภาพพวกเขาอยู่ ถ้าคุณอาศัยอยู่ในที่ที่เงียบสงบไม่ค่อยมีคนมาก ลองขับรถเข้าไปในเมืองที่มีผู้คนจำนวนมาก หรือไม่ก็ลองเข้าไปถ่ายภาพในงานเทศกาลฉลองใหญ่ๆ งานรื่นเริง หรือในขบวนพาเหรด ซึ่งสามารถจะพบสิ่งที่น่าสนใจจำนวนมากให้คุณถ่ายภาพได้อย่างจุใจ


ขั้นที่ 20 ถ่ายภาพในที่คนน้อย
เมื่อคุณคุ้นเคยและรู้สึกว่าการถ่ายภาพในที่คนมากๆ เป็นเรื่องง่ายๆ แล้ว เปลี่ยนแนวของคุณมาเป็นการถ่ายภาพในที่ที่มีคนน้อยดูบ้าง เริ่มแรกมันจะทำให้คุณรู้สึกเปิ่นๆ เก้อเขินและต้องอาศัยความกล้าเป็นพิเศษ แต่มันก็จะช่วยให้คุณเอาชนะความกลัวของคุณในการถ่ายภาพ Street Photography ได้ในที่สุด
เมื่อคุณถ่ายภาพคนแปลกหน้าที่มีเพียงไม่กี่คนอยู่รอบๆ ตัวคุณ คุณจะต้องมีการเตรียมการในการอธิบายหรือทำให้พวกเขาเข้าใจและยอมรับ ว่าคุณกำลังทำอะไร โดยที่คุณไม่มีฝูงชนจำนวนมากให้คุณแอบซ่อนตัวอยู่เหมือนในหัวข้อที่แล้ว ถ้าใครสักคนถามว่า คุณกำลังทำอะไร ให้อธิบายโดยท่าทีสงบ ใช้คำพูดเรียบง่ายว่า คุณเป็นช่างภาพแนวสตรีท หรือช่างภาพที่ชอบถ่ายภาพวิถีชีวิตทั่วไปตามท้องถนน และคุณชอบถ่ายภาพผู้คนที่ดูดี สวยงาม น่าประทับใจ น่าสนใจ มีเรื่องราวพิเศษ ผู้คนจำนวนหนึ่งจะรู้สึกดีที่พวกเขาได้เป็นหนึ่งในตัวแบบของคุณ เพราะนั่นหมายถึงพวกเขา พิเศษ” ตามที่คุณอธิบายไป ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งจะยังไม่เข้าใจ คราวนี้เป็นหน้าที่ของคุณที่จะต้องอธิบายเพิ่มเติมแล้วล่ะว่า ทำไมคุณถึงต้องถ่ายภาพพวกเขา พยายามอธิบายอย่างช้าๆ และจริงใจที่สุด เพราะจะทำให้คำอธิบายของคุณฟังแล้วน่าเชื่อถือมากขึ้น


บางคนอาจจะถามว่าทำไมคุณถึงถ่ายภาพพวกเขาโดยไม่ได้รับอนุญาตก่อน ใจเย็นๆ แล้วค่อยๆ อธิบายเหตุผลเรื่องของความเป็นธรรมชาติและความงดงามของการถ่ายภาพทีเผลอซึ่งคุณสังเกตเห็นอยู่ในการกระทำของพวกเขา บอกไปว่า คุณอยากจะบันทึกความงดงามที่หากได้ยากยิ่งนั้นไว้อย่างที่พวกเขาเป็น ถ้ามีใครขอให้คุณลบภาพพวกเขาออกจากเมมโมรีของคุณ คุณมีทางเลือกสองทางคือ 1. ลบภาพนั้นออกไป 2. ปฏิเสธแล้วเดินจากมาเสีย โดยทั่วไป ผมคิดว่าถ้าใครสักคนขอร้องอย่างสุภาพให้คุณลบภาพของพวกเขาออกไป คุณก็ทำตามนั้นจะลดปัญหาอื่นๆ ได้มากมาย แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณคิดว่าคุณมีสิทธิเก็บภาพที่คุณถ่ายเอาไว้ (และรู้สึกชอบภาพนั้นจริงๆ) คุณสามารถปฏิเสธแล้วเดินออกจากที่นั่นได้ทันที
99% ของคนทั่วไป จะไม่ตามมาตอแยคุณ สำหรับ 1% ที่เหลือ คุณสามารถที่จะยืนยันสิทธิของคุณและอธิบายให้พวกเขารู้ว่าการถ่ายภาพในที่สาธารณะไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย ถ้าพวกเขาขู่ว่าจะเรียกตำรวจ คุณก็ปล่อยให้พวกเขาเรียกได้เลย อย่างไรก็ตาม อย่างที่ผมบอกตอนแรกนั่นแหละ เพื่อป้องกันปัญหายุ่งยากหรือเสียเวลา คุณก็แค่ลบภาพนั้นออกไปเสียเท่านั้น (จากนั้นก็ให้เปลี่ยนเมมโมรีการ์ดอันใหม่ทันที และเก็บอันที่คุณเพิ่งลบภาพออกไปแยกไว้ต่างหาก อย่าเขียนหรือถ่ายอะไรทับเพิ่มลงไป เมื่อกลับถึงบ้าน คุณก็สามารถจะใช้โปรแกรมกู้เมมโมรี มากู้ภาพที่คุณลบไปนั้น กลับมาได้สบายมาก หากว่าคุณต้องการภาพนั้นจริงๆ เทคนิคขั้นเทพนี้ จะช่วยคุณได้ในเวลาจำเป็น แต่ถ้าคุณดื้อดึงไม่ยอมลบภาพ และมีใครสักคนยึดเมมโมรีการ์ดคุณไป ก็เท่ากับจบกัน)


ขั้นที่ 21 ไปที่ไหนสักแห่งที่คุณรู้สึกไม่คุ้นเคย
ถ้าคุณมีความต้องการอย่างจริงจังที่จะท้าทายตัวเองในฐานะช่างภาพแนวสตรีท อย่าเพียงแต่ถ่ายภาพในสภาพแวดล้อมที่สบายๆ สำหรับคุณ ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณได้ถ่ายภาพถนนที่สงบๆ ธรรมดาๆ สักแห่งหนึ่งในรอบนอกของเมือง และคุณก็ชอบมัน เพราะถ่ายภาพที่นี่ง่ายดี ให้คุณลองมองหาถนนที่อยู่ในเมืองเข้าไปอีก แม้ว่าคุณอาจจะไม่ต้องการที่จะเข้าไปในสถานที่อันตรายสำหรับคุณในการถ่ายภาพ (อันนี้ต้องใช้สัญชาตญาณและการตัดสินใจของคุณเอง) คุณก็เลือกหาที่อื่นซึ่งขอให้รู้สึกแตกต่างและไม่คุ้นเคยสำหรับคุณก็พอ
การถ่ายภาพในสถานที่แตกต่างออกไปนั้นจะต้องใช้เวลาปรับตัวกันบ้าง แต่ก็จะทำให้คุณมีความสามารถในการปรับตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์ในการถ่ายภาพผู้คนหลากหลายจากสังคมและเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ซึ่งจะทำให้คุณเพิ่มความสามารถถ่ายภาพกลุ่มคนที่แตกต่างกันหลายๆ กลุ่ม (ไม่ใช่แค่ถ่ายภาพพวกนักท่องเที่ยว หรือถ่ายภาพคนที่ดูไม่มีพิษภัยธรรมดาๆ ทั่วไป) ผมไม่ได้บอกว่าคุณจะต้องถ่ายภาพของคนที่ดูคล้ายๆ พวกแก๊งส์มาเฟียคนขายยาเสพติด หรือพวกอาชญากร แต่ให้คุณใช้สัญชาตญาณเอาเองว่า คุณควรจะมีข้อจำกัดอยู่ตรงไหน ถ่ายอย่างไร บางทีคนที่ดูน่ากลัวที่สุดที่คุณถ่ายภาพ ก็สามารถจะเป็นคนที่ถ่ายภาพออกมาแล้วดูดีที่สุดก็เป็นได้


ขั้นที่ 22 เตรียมคำอธิบายตัวคุณเอง
เมื่อคุณถ่ายภาพแนวสตรีท คุณจำเป็นจะต้องรู้อย่างชัดแจ้งว่า ทำไม คุณจึงถ่ายภาพใครสักคน ดังนั้น ให้เตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอว่าจะตอบคำถามดังกล่าวว่าอย่างไรการเตรียมคำตอบไว้ก่อน จะทำให้คุณตอบด้วยท่าทีเป็นธรรมชาติ ฟังแล้วน่าเชื่อถือ และคนที่ฟัง จะรู้สึกว่า มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ ไม่ใช่การโกหก และพวกเขาจะคลายท่าทีต่อต้านคุณลงไปจากเดิม
ทิปที่แนะนำก็คือ การบอกว่าเพราะอะไรคุณถึงถ่ายภาพคน ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณคิดว่าพวกเขายิ้มสวย ก็ให้บอกพวกเขาไปตามนั้น ถ้าคุณชอบสีของเสื้อผ้าที่พวกเขาสวมใส่ และคิดว่าพวกเขามีบุคลิกพิเศษ ก็บอกเขาไปตามนั้น ถ้าคุณชอบใบหน้าของพวกเขามากๆ ก็บอกให้เขารู้อย่างที่คุณรู้สึกได้เลย
จากประสบการณ์ของผมพบว่า คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ใครสักคนมาถ่ายภาพตัวเขา ตราบเท่าที่พวกเขายังไม่คิดหรือสงสัยว่าคุณจะเอาไปทำอะไรที่ไม่ดี ทุกวันนี้ ด้วยความหวาดระแวงเกี่ยวกับการใช้ภาพในอินเตอร์เน็ตและการละเมิดสิทธิส่วนตัว ผู้คนก็เริ่มกังวลว่าคุณอาจจะเอาภาพของเขาไปใช้งานที่ล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัวในทางใดทางหนึ่ง จำไว้ว่าคุณต้องพร้อมอธิบายเสมอว่า คุณถ่ายภาพของพวกเขาทำไม


ขั้นที่ 23 อย่าถ่ายภาพจนกว่าพวกเขาจะมองมาที่คุณ
เทคนิคหนึ่งที่ Thomas Leuthard ใช้เมื่อเขาออกไปถ่ายภาพแนวสตรีท ก็คือการเล็งกล้องถ่ายภาพตรงไปยังใบหน้าของคนที่เขาต้องการถ่าย จากนั้นก็รออย่างอดทนจนกระทั่งเป้าหมายของเขาหันหน้ามาแล้วจึงกดชัตเตอร์ถ่ายภาพ เขากล่าวว่า เวลาที่เขากดชัตเตอร์โดยตัวแบบยังอยู่ในอาการเป็นธรรมชาติและเป็น Candidที่สมบูรณ์แบบนั้น มันแค่ชั่วเสี้ยววินาทีเท่านั้นที่เป็นรอยต่อระหว่างการหันมามองกล้องโดยไม่รู้ตัวและรู้ตัวว่ากำลังถูกถ่ายภาพ (ซึ่งอากัปกิริยาจะเปลี่ยนไป)
ดังนั้น ลำดับต่อไปของการเอาชนะความกลัวเมื่อถ่ายภาพ Street Photography ก็คือ การเตรียมตัวจะฝึกความอดทนและคอยจนกระทั่งเป้าหมายของคุณหันหน้ามา เทคนิคนี้จะต้องใช้ความกล้าหาญเป็นอย่างมาก แต่ภาพที่ได้ก็มักจะคุ้มค่าเช่นกัน เขาว่ากันว่า ดวงตาเป็นหน้าต่างเปิดสู่จิตวิญญาณของผู้คน ดังนั้น เมื่อผู้คนมองตรงมาที่คุณในขณะที่คุณถ่ายภาพของพวกเขา คุณรู้สึกได้ถึงการเชื่อมโยงกับตัวแบบของคุณในฐานะมนุษย์ซึ่งจะหาความรู้สึกเช่นนี้ไม่ได้เลยในภาพที่สายตาของเขา ไม่ได้มองตรงมาที่คุณ


ขั้นที่ 24 ถ่ายจากด้านหน้า
บางครั้งเมื่อคุณกำลังถ่ายภาพแนวสตรีทอยู่ คุณอาจจะสังเกตเห็นใครสักคนที่มีบุคลิกพิเศษ แต่เห็นจากทางด้านหลัง อย่ากลัว ใช้ความกล้าหาทางเดินไปข้างหน้าและถ่ายภาพพวกเขาจากด้านหน้าให้ได้ โดยทั่วไปแล้ว การสื่อสารในภาพที่ถ่ายจากด้านหลังของคน จะมีความน่าสนใจสู้ภาพที่ถ่ายจากข้างหลังไม่ได้
ดังนั้นถ้าคุณเห็นใครสักคนที่คุณอยากจะถ่ายภาพเขา แต่เขาหันหลังให้คุณ ให้รีบวิ่งเหยาะๆ อย่างรวดเร็วผ่านเขาไปและหันกลับมาอย่างช้าๆ เดินเผชิญหน้ากับเขาและถ่ายภาพ คุณสามารถใช้เทคนิคนี้กับผู้คนที่ยืนนิ่งๆ อยู่ที่ป้ายรถเมล์หรือที่ใดๆ ก็ได้ เดินอ้อมพวกเขาไปช้าๆ และถ่ายภาพพวกเขาจากด้านหน้า


ขั้นที่ 25 อย่าคิดมาก
เมื่อถ่ายภาพแนวสตรีท อย่าให้การหยุดชะงักเพราะคิดวิเคราะห์มากเกินไปมาหยุดคุณ กล่าวอีกอย่างหนึ่ง ยิ่งคุณคิดมากเท่าไหร่ในขณะที่ถ่ายภาพในแบบStreet Photography นั่นหมายถึงโอกาสที่จะได้ภาพน้อยลงเท่านั้น คุณจะต้องหยุดสัญญาณใดๆ ที่ผุดขึ้นมาในสมองของคุณเพื่อบอกคุณว่า คุณไม่ควรจะถ่ายภาพคนที่ไม่รู้จักโดยไม่ได้รับอนุญาต อย่าไปฟังมัน ลงมือเลย
เมื่อผมออกไปถ่ายภาพ และเริ่มคิดมากว่า คนที่ผมจะถ่ายภาพเขา จะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อผม เท้าของผมก็จะเริ่มแข็งและรู้สึกกล้าน้อยลงในการที่จะเข้าไปใกล้ตัวแบบที่ผมหมายตาไว้ อย่างไรก็ตาม ผมพยายามที่จะคิดถึงสิ่งอื่นๆ เมื่อผมออกไปถ่ายภาพ (หนังที่ผมอยากดู อีเมลที่ผมเพิ่งอ่านไป หรือว่า เย็นนี้ผมจะกินอะไร) ซึ่งจะช่วยป้องกันผมจากวิตกจริตเมื่อถ่ายภาพอยู่บนถนน


ขั้นที่ 27 ถ่ายภาพแรกให้ได้ก่อน
มีบางวันที่คุณรู้สึกไม่อยากคิดถึงมัน มีบางวันที่ผมคึกคักกล้าหาญเหมือนมีพลังของสิงโตสัก 100 ตัวอยู่ในความรู้สึกผม และมีบางวันเหมือนกันที่ผมรู้สึกเหมือนเป็นลูกแกะขี้อาย
อย่าปล่อยให้แรงบันดาลใจเป็นสิ่งเดียวที่จะพาคุณออกไปถ่ายภาพบนท้องถนน แรงบันดาลใจเพียงแต่ช่วยให้คุณทำสิ่งต่างๆ ได้ง่ายขึ้นเท่านั้น สิ่งที่เป็นหัวใจจริงๆ คือการทำงานหนักและความเพียรพยายาม ซึ่งจะช่วยให้คุณทำงานได้สำเร็จเป็นอย่างดี แม้ว่าคุณจะมีขั้นที่คุณรู้สึกปราศจาก แรงบันดาลใจ” ผมกำลังบอกว่า ปลุกตัวเอง แล้วออกไปถ่ายภาพกัน
ส่วนที่ยากที่สุดของการทำอะไรในวันที่ปราศจากแรงบันดาลใจก็คือ การเริ่มต้นถ่ายภาพแรกเมื่อคุณออกมาอยู่บนถนนแล้ว คุณอาจจะออกมาอยู่ที่นั่นแล้วรู้สึกเหมือนผู้คนนับร้อยกำลังจ้องมองคุณอยู่ คุณเกิดความครั่นคร้ามต่อสายตาเหล่านั้น คุณรู้สึกว่ากล้ามเนื้อทุกส่วนของคุณตึงเขม็ง และหัวใจของคุณเริ่มเต้นแรง คำแนะนำของผมในการที่จะหยุดความรู้สึกเหล่านี้ก็คือ แค่เริ่มต้นถ่ายสักภาพ แล้วจากนั้น มันก็จะดำเนินไปเอง
เริ่มต้นถ่ายภาพแรก เหมือนการเริ่มต้นสตาร์ทรถของคุณ คุณจะได้ยินเสียงเครื่องยนต์เริ่มทำงาน และคุณจะเริ่มตื่นตัวอย่างช้าๆ เริ่มต้นถ่ายภาพแรกให้ได้แม้ว่าคุณรู้ว่าจะต้องถ่ายมันไปเพื่อลบทิ้ง ถ่ายภาพกำแพงว่างเปล่า หรือถ่ายภาพคนที่อยู่ไกลลิบๆ ก็ได้ ไม่ต้องไปกังวลกับการจัดองค์ประกอบให้มากนัก แค่กดชัตเตอร์กล้องของคุณ คุณจะได้ยินเสียงชัตเตอร์ของคุณทำงาน และนั่นคือเสียงที่คุณคุ้นเคย
จากนั้น เริ่มต้นถ่ายภาพอื่นอีก ตามด้วยการถ่ายอีกครั้ง คราวนี้วางองค์ประกอบอย่างตั้งใจ เข้าไปใกล้ผู้คนมากขึ้น และต้องมั่นใจว่าคุณยิ้มอยู่ จากนั้นหลังจากถ่ายภาพไปได้พักหนึ่ง คุณก็พร้อมที่จะถ่ายภาพอย่างกระตือรือร้นอีกครั้งหนึ่ง และคุณจะประหลาดใจในตัวคุณเอง ผมประหลาดใจจริงๆ ว่าเมื่อสักพักก่อนหน้านี้ ผมกลัวอะไรหนอ


ขั้นที่ 27 ใช้เลนส์มุมกว้างขึ้น
เมื่อผมเริ่มถ่ายภาพแนวสตรีท ผมเริ่มด้วยการใช้เลนส์ 50 มม. กับกล้องแบบตัวคูณ ซึ่งจะได้มุมการรับภาพประมาณเท่ากับเลนส์ 80 มม. หลังจากปีหนึ่งผ่านไป ผมเริ่มต้นใช้เลนส์ 50 มม. กับกล้องฟูลเฟรม อีกปีหลังจากนั้น ผมเริ่มต้นใช้เลนส์ 35 มม. กับกล้องฟูลเฟรม ช่วงสองสามปีหลังมานี้ ผมได้เริ่มต้นถ่ายภาพด้วยเลนส์ 24มม. กับกล้องฟูลเฟรม
ผมสังเกตเห็นว่า เมื่อผมใช้เลนส์มุมกว้างขึ้น มันบังคับให้ผมเข้าใกล้ตัวแบบของผมมากขึ้นเรื่อยๆ และผมยิ่งสังเกตว่า ยิ่งเข้าไปใกล้ตัวแบบของผมเท่าไหร่ ภาพของผมก็ยิ่งน่าสนใจมากขึ้นเท่านั้น เมื่อคุณถ่ายภาพด้วยเลนส์มุมกว้าง และเข้าไปใกล้ตัวแบบของคุณมากๆ ความบิดเบือนของภาพที่ได้จากเลนส์มุมกว้าง ทำให้ผู้ดูภาพมีความประทับใจและรู้สึกมีส่วนร่วมกับภาพของคุณมากกว่าแค่ผู้มองเห็นภาพผ่านๆ ไปเท่านั้น ยิ่งเป็นภาพที่คุณย่อตัวลงไปมากๆ คุณสามารถถ่ายภาพที่มีทัศนมิติเกินจริง ซึ่งทำให้ตัวแบบของคุณดูสูงกว่าปกติ มีพลังมากขึ้น และดูยิ่งใหญ่กว่าที่พวกเขาเป็นจริงๆ


คุณจะไม่ได้เห็นผู้คนที่มีลักษณะตามเอฟเฟ็คต์ของเลนส์มุมกว้างนี้ในชีวิตจริง ซึ่งสิ่งนี้ทำให้ภาพของคุณมองดูโดดเด่นและน่าหลงใหล ดังนั้นในการท่องไปเพื่อถ่ายภาพแนวสตรีท จงหาเลนส์มุมกว้างมาใช้ เพื่อให้ก้าวข้ามความกลัวของการถ่ายภาพแนวนี้ไปให้ได้ Bruce Gilden เคยแม้กระทั่งใช้เลนส์ 21 มม. ในงานของเขา และผมก็จะใช้มันเหมือนกันในอีกไม่ช้านี้


ขั้นที่ 28: พกนามบัตรติดตัวไว้เสมอ
คนทั่วไปมั่นใจในอะไรที่ดูเป็นทางการสักหน่อย ใช้สิ่งนี้ให้เป็นประโยชน์กับคุณ พกนามบัตรติดตัวไว้เสมอ ถ้าใครสักคนถามว่าคุณกำลังทำอะไร อธิบายไปตามปกติว่า คุณเห็นบางสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับพวกเขา (ใบหน้า เสื้อผ้า วิธีการแสดงออกของพวกเขา เป็นต้น) และอธิบายว่าคุณเป็นช่างภาพแนวสตรีท ซึ่งหมายความว่า ไม่มีพิษมีภัยอะไร
จากนั้นให้นามบัตรแก่เขาไปใบหนึ่ง ซึ่งมีชื่อ สถานที่ติดต่อ หรือแม้กระทั่งบอกว่าจะส่งภาพที่คุณถ่ายเขามาให้ทางอีเมล เมื่อคุณทำเช่นนี้ ผู้คนจะคิดว่า คุณเป็นมืออาชีพ ไม่ใช่ช่างภาพที่เดินถ่ายภาพเล่นๆ ตามถนนทั่วไป คนส่วนใหญ่ชอบนักเวลาที่คุณส่งภาพตัวเขาเองไปให้ (ลองคิดถึงความรู้สึกเวลาที่เพื่อนคุณ แท็ก” คุณในเฟซบุ๊คดูก็แล้วกัน) ดังนั้น การเสนอว่าจะส่งภาพของพวกเขาให้ เป็นวิธีการที่ดีเยี่ยมอย่างหนึ่ง ในการที่จะได้รับความร่วมมือให้ถ่ายภาพได้อย่างเต็มที่


ขั้นที่ 29 แค่เดินจากไป
มีคนบางประเภทที่คุณไม่สามารถเข้าถึงได้ คนประเภทนี้ ไม่ว่าคุณจะใช้เหตุผลอะไรก็ไม่ได้ผลทั้งนั้น พวกเขาจะไม่ฟังคุณเลย คำแนะนำของผมในสถานการณ์เช่นนี้ คือเดินออกมาเสียจากตรงนั้น เมื่อคุณหันหลังเดินออกมา ส่วนใหญ่ก็ไม่มีใครจะตามหลังคุณมา แต่ละสำหรับความเป็นไปได้เพียงเล็กน้อยที่จะมีคนตามคุณมาแล้วจับไหล่คุณไว้นั้น ให้หันมามาอีกครั้งแล้วถามว่า พวกเขาต้องการอะไร
ถ้าพวกเขาเป็นคนที่ยังพอมีเหตุผลอยู่บ้าง คุณควรจะหยุดและพยายามพูดอย่างมีเหตุผล ถ้าคุณพยายามพูดแล้วและพวกเขาไม่สนใจฟัง ก็ให้เดินหนีออกมา ถ้าพวกเขาตามคุณมาอีกและแตะต้องตัวคุณ ให้เดินหนีอย่างเดียว สำหรับกลุ่มคนประเภทนี้ ยิ่งคุณไปให้ความสำคัญเท่าไหร่ ก็ยิ่งมากเรื่องเท่านั้น


ขั้นที่ 30 ถ่ายภาพโดยใช้แฟลช
ถ่ายภาพด้วยแฟลชเป็นเทคนิคสุดท้ายที่คุณจะต้องพยายามฝึกฝนให้ชำนาญ ใช้งานได้อย่างคล่องแคล่ว และใช้งานในการถ่ายภาพแนวสตรีทได้อย่างปราศจากความกลัว การใช้แฟลชถ่ายภาพแนวสตรีทในเวลากลางคืนสามารถทำได้หลายรูปแบบ
เทคนิคการใช้แฟลชซึ่งผมเอามาจาก Bruce Gilden และช่างภาพแนวสตรีทที่ชอบใช้แฟลชคนอื่นๆ เช่น Charlie Kirk และ Dirty Harrry คือ การใช้สายพ่วงแยกออกมาเมื่อจำเป็นต้องใช้แฟลช ทำไมหรือเพราะว่าคุณจะสามารถใช้งานได้อย่างยืดหยุ่นและควบคุมแสงได้ง่ายกว่า แทนที่จะติดแฟลชไว้บนหัวกล้อง คุณสามารถกำหนดตำแหน่งแฟลชของคุณในทิศทางต่างๆ กัน ตัวอย่างเช่น ถ้าใครสักคนยืนอยู่ที่กำแพง และคุณถือแฟลชอยู่ทางซ้ายของเขา คุณสามารถทำให้เกิดเงายาวทางด้านขวาของเขาได้ ถ้าคุณย่อตัวลงและวางตำแหน่งแฟลชไว้ด้านล่างใบหน้าของเขา คุณก็สามารถทำให้เกิดเงาตกบนใบหน้าของเขาซึ่งจะทำให้ดูน่ากลัวได้ (จำตอนที่คุณยังเป็นเด็กและเล่นเอาไฟฉายมาส่องหน้าจากทางด้านล่างได้ไหม)
ก่อนที่คุณจะออกไปถ่ายภาพด้วยแฟลชบนท้องถนน คุณจำเป็นต้องตั้งค่าที่ถูกต้องให้กับกล้องของคุณเสียก่อน เมื่อถ่ายด้วยแฟลช ให้ถ่ายด้วยระบบแมนนวลเสมอ และทำการกำหนดระยะโฟกัสคร่าวๆ ไว้ล่วงหน้า (ผมตั้งค่าให้กล้องของผมโฟกัสเอาไว้ที่ 1.2 เมตร ที่ 24 มม. หรือ 35 มม. รูรับแสง f/16 และ ISO 800) ขึ้นอยู่กับว่าต้องการให้แสงอื่นๆ ที่มีอยู่ในสถานที่ถ่ายภาพขณะนั้น เข้ามาในภาพของผมมากขนาดไหน ซึ่งผมจะใช้วิธีปรับเปลี่ยนความไวชัตเตอร์ ถ้าหากว่าถ่ายภาพกลางวันในร่ม ผมจะใช้ f/16 ISO 800 และความไวชัตเตอร์ที่ 1/125 วินาที แต่ถ้าถ่ายในเวลากลางคืน ผมจะใช้ f/11 ISO 800 และความไวชัตเตอร์ 1/3 วินาที (เพื่อให้เกิดเอฟเฟ็คต์“Motion Blur” ในฉากหลัง)


ขั้นต่อไปคือขั้นตอนการถ่ายภาพบนถนนด้วยแฟลช ผมเดินด้วยความเร็วพอควรและใช้สายตามองหาคนที่มีบุคลิกพิเศษหรือมีเรื่องราวน่าสนใจ โดยทั่วไปผมมองหาผู้คนที่มีการแต่งตัวน่าสนใจ เช่น เน็คไทลายแปลกๆ แว่นตาที่มีรูปทรงโดดเด่น เสื้อผ้าสีฉูดฉาด ท่าทางสนุกสนาน หรือไม่ก็ใส่กางเกงหรือรองเท้าที่ดูหรูหรา ในตอนกลางคืน ผมพยายามไม่ถ่ายภาพของคนไร้บ้าน คนจรจัด (เพราะมันอาจจะมีอันตรายต่อผม) และคนที่ดู ชัดเจนเกินไป” อย่างพวกนักแสดงโชว์บนถนน หรือคนที่แต่งตัวหลุดโลกเกินไป(พวกนี้มีเยอะ ดังนั้นภาพที่ได้ จึงอาจจะดูพื้นๆ ไปหน่อย)
ผมจะเดินทางฝั่งขวาของถนนและคนอื่นๆ จะเดินอยู่ทางซ้ายมือของผม ผมจะสังเกตดูคนที่เดินข้ามจากฝั่งตรงข้าม และเตรียมตัวถ่ายภาพพวกเขา เมื่อพวกเขาเข้ามาใกล้ประมาณ 1 เมตร ผมจะก้าวไปทางซ้ายของทางที่พวกเขาเดินอยู่ จากนั้นย่อตัวลง และยกกล้องขึ้นถ่ายภาพทันทีอย่างรวดเร็ว ปกติหลังจากถ่ายภาพแล้ว ผมจะสบตาพวกเขาแล้วยิ้ม พร้อมกล่าวคำว่า ขอบคุณ” จากนั้นเดินต่อไป คนส่วนใหญ่จะตอบรับโดยการยิ้มตอบและพูดว่า ขอบคุณ” แล้วก็เดินต่อไป


ถ้าเป็นคนที่ยืนนิ่งๆ ปกติผมจะเดินไปรอบๆ ตัวพวกเขาและเข้าใกล้ๆ จากนั้นถ่ายภาพด้วยแฟลช ถ้าผมอยู่ในขณะรีบ ปกติผมจะไม่พูดอะไรและเดินต่อไป ปฏิกิริยาทั่วไปที่ผมเห็นจากคนเหล่านั้นก็คือเห็นพวกเขาทำท่างงนิดหน่อย หรือไม่ก็หันกลับไปมองข้างหลังเพื่อดูว่าผมถ่ายอะไร ด้วยความที่ไม่ทันได้ระวังตัว บางครั้งแสงแฟลชแวบขึ้นมา และคนทั่วไปก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไรกับมันดี ส่วนใหญ่พวกเขาก็ทำท่างงๆ แล้วก็จบแค่นั้น ไม่มีอะไรมาก
จากประสบการณ์ของผม ผู้คนจะคุ้นเคยกับการที่ช่างภาพใช้แฟลชช่วงกลางวันที่มีแสงน้อยมากกว่า เมื่อคุณใช้งานแฟลชในเวลากลางคืนที่มืดสนิท โอกาสที่จะทำให้คนถูกถ่ายตกใจก็มีมาก ขึ้นอยู่กับการระวังตัวของแต่ละคนด้วย บางคนก็ยืนเพลินไม่ได้ระวังตัวอะไรเลย แต่โดยทั่วไปแล้วการถ่ายภาพด้วยแฟลชในเวลากลางคืนจะก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่างๆ ชัดเจนกว่าการใช้ในตอนกลางวัน อย่างไรก็ตาม การใช้แฟลชในเวลากลางคืน จะให้ภาพที่มองลึกได้อารมณ์เข้าถึงบุคลิกของตัวแบบมากกว่า

ขั้นที่ 31 บอกพวกเขาให้เรียกตำรวจ
บางทีก็เป็นสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น เตรียมแนวทางไว้บ้างก็ดี มีคนบางพวกที่จะไม่ฟังสิ่งที่คุณพูดเลย และขู่คุณว่าจะเรียกตำรวจอย่างเดียว แม้ว่าส่วนใหญ่แล้ว เวลามีปัญหากับคนประเภทนี้ ผมจะลบภาพของพวกเขาออกไปแล้วออกเดิน แต่บางครั้งผมก็หยุดแล้วบอกให้เขาเรียกตำรวจมา เป็นเรื่องแย่มากที่จะต้องคุยกับตำรวจ แต่ปกติจะมีหนึ่งในสองทางนี้เกิดขึ้น
  1. คุณบอกให้พวกเขาเรียกตำรวจ และพวกเขาตะโกนใส่คุณ จากนั้นก็เดินหนีไปเอง (เท่ากับคุณเกทับเขาได้สำเร็จ)
  2. คุณคอยให้ตำรวจมา และพวกเขา (ตำรวจ) ถามว่า เกิดอะไรขึ้น คนที่คุณถ่ายภาพเล่าเรื่องให้ตำรวจฟัง และตำรวจก็จะบอกว่า คุณมีสิทธิเต็มที่ในการถ่ายภาพบนถนน และบอกให้ทั้งสองฝ่ายแยกย้ายกันไป
ข้อสำคัญคือการเรียกตำรวจนั้น คุณควรจะมั่นใจว่าอยู่ในประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าในระดับหนึ่ง วิธีนี้ไม่แนะนำสำหรับประเทศที่คุณไม่มั่นใจว่า ตำรวจเขาจะมีความเข้าใจในกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้แค่ไหน และไม่แนะนำสำหรับใช้ในพื้นที่ซึ่งไม่ใช่อยู่ในตัวเมืองใหญ่จริงๆ หากเป็นสถานที่ห่างไกล ตำรวจที่มาหาคุณ อาจจะเป็นเพื่อน หรือเป็นญาติ หรือรู้จักกับคู่กรณีของคุณก็เป็นได้ คราวนี้เรื่องจะยากและยาวเป็นพิเศษ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น