วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

การทำภาพฉากหลังขาวอย่างง่ายสำหรับมือใหม่

 ในบรรดาภาพที่จัดอยู่ในประเภท ขายดี” ของไมโครสต็อกนั้น จะมีภาพอยู่ประเภทหนึ่งที่จัดอยู่ในลำดับต้น ๆ คือภาพที่มีฉากหลังของภาพสีขาวล้วน มีชื่อเรียกทางเทคนิคในภาษา Stock Photography ว่าภาพ ฉากหลังขาวภาษาอังกฤษเรียกว่าภาพ Isolated หรือ Isolation หมายถึงภาพที่มีการแยกวัตถุออกจากฉากหลังอย่างชัดเจน
                ภาพประเภทนี้ บรรดาลูกค้าผู้ซื้อภาพในไมโครสต็อกจะชอบมาก เพราะว่าง่ายต่อการนำไปใช้งาน เช่น การไดคัทเอาเฉพาะตัววัตถุในภาพไปประกอบกับงานออกแบบอื่น ๆ หรือการนำข้อความใด ๆ มาใส่ลงไปในภาพ ซึ่งจะทำได้ง่ายกว่าภาพที่มีฉากหลังหลาย ๆ สี หรือฉากหลังที่มีองค์ประกอบอื่น ๆ อยู่ด้วย ความจริงแล้วภาพ Isolationนั้นไม่ได้หมายถึงฉากหลังขาวล้วนอย่างเดียว จะสีอื่น ๆ เช่น สีดำล้วน ก็ได้ เพียงแต่จะไม่ค่อยเป็นที่นิยมของลูกค้ามากเท่ากับสีขาว ดังนั้น ส่วนใหญ่แล้ว ความหมายในภาคปฏิบัติเมื่อพูดถึงคำนี้ จึงหมายถึง “ภาพที่มีฉากหลังสีขาว
                การทำภาพฉากหลังขาวนั้นมีมากมายหลายวิธี ทั้งจากการจัดแสงให้ได้ภาพสำเร็จในขั้นตอนการถ่ายครั้งแรก ซึ่งเหมาะสำหรับช่างภาพที่มีความพร้อมในด้านอุปกรณ์มากพอสมควร  รวมทั้งจะต้องมีความรู้หรือความเชี่ยวชาญในทฤษฎีการถ่ายภาพและทฤษฎีแสงมากใน ระดับหนึ่ง  หรือการมาจัดการทำฉากหลังขาว (หรือสีอื่น ๆ ตามต้องการ) ภายหลังด้วยโปรแกรมตกแต่งภาพ วิธีหลังนี้มีทั้งแบบง่าย ๆ ที่มือใหม่ก็ทำได้ และแบบที่สลับซับซ้อนซึ่งต้องอาศัยเทคนิคและความชำนาญระดับสูง ขึ้นอยู่กับภาพแต่ละภาพ ในตอนนี้ผมจะยกตัวอย่างวิธีการทำภาพฉากหลังขาวแบบง่าย ๆ ที่ Stock Photographer มือใหม่ที่ยังไม่เคยใช้ หรือยังไม่มีความชำนาญในการใช้โปรแกรมตกแต่งภาพ (ในที่นี้หมายถึง โปรแกรม Photoshop) ก็สามารถทำตามได้โดยไม่ต้องเรียนรู้เทคนิคระดับสูง ใช้คำสั่งเพียงไม่กี่คำสั่งหรือไม่กี่ขั้นตอนเท่านั้นครับ
                การถ่ายภาพเพื่อนำมาทำภาพแบบ Isolation ตามวิธีต่อไปนี้นั้น อาจจะต้องมีการวางแผนหรือเตรียมการมาบ้างเล็กน้อยในขั้นตอนการถ่ายภาพ เพื่อให้งานในขั้นตอนของ Photoshop ง่ายขึ้น คือจะต้องพยายามถ่ายภาพให้มีฉากหลังสีพื้นที่ตัดกันอย่างชัดเจนกับวัตถุ จะเป็นสีอะไรก็ได้ สำหรับผมเองชอบใช้สีขาวเป็นหลัก เพราะถ้าจังหวะดี ๆ ก็สามารถปรับเพิ่มเพียงเล็กน้อยก็ใช้ได้ทันที โดยขั้นตอนการถ่ายภาพที่ว่านี้ ผมจะใช้ทั้งการจัดถ่ายด้วยแสงธรรมชาติและอุปการณ์ง่าย ๆ ที่หาได้ทั่วไปในบ้าน (ภาพที่ 1) หรือไม่ก็จัดแสงถ่ายเอาบ้าง (ภาพที่ 2) ตามความเหมาะสม เนื่องจากผมต้องเดินทางอยู่บ่อยครั้ง ๆ จึงต้องใช้อุปกรณ์ที่พกพาได้ง่าย ๆ ใส่กระเป๋าใบเล็ก ๆ ใบเดียว พักที่ไหนก็หามุมเล็กๆ วางอุปกรณ์พวกนี้ได้ทันที บางทีในภาคสนามไม่มีทั้งสองอย่าง ก็ใช้ผ้าขาวผืนเล็กๆ ที่พกติดกระเป๋ากล้องไว้เสมอออกมากางเป็นฉากหลังก็มีบ่อย ๆ ส่วนใครมีอุปกรณ์ที่มาตรฐานกว่านี้หรือจัดมุมถ่ายได้ดีกว่านี้ ก็เลือกได้ตามถนัดครับ ขอให้ได้ภาพที่มีฉากหลังสีเดียวตัดกับวัตถุมาก่อนเป็นใช้ได้ ฉากหลังขาวจะขาวตุ่น ๆ ขาวด่าง ๆ หรือดำอมเทา ฯลฯ ไปบ้างก็ไม่มีปัญหา หรือถ้าจำเป็น ไม่มีฉากหลังสีขาว ก็พยายามหาวัตถุหรือมุมใด ๆ ที่ถ่ายออกมาแล้วได้ฉากหลังสีพื้นเรียบสีเดียวกันก็จะมีประโยชน์มากในการแยก ฉากหลังด้วยวิธีการที่จะนำเสนอต่อไปนี้ ในภาพตัวอย่างจะเป็นได้ว่า บางครั้งผมก็ใช้ฉากหลังสีดำ เพราะว่าวัตถุเป็นสีขาว เช่นถ่ายภาพดอกหญ้าสีขาว ก็ต้องใช้ฉากหลังสีดำจะดีกว่า ถ้าใช้ฉากหลังสีขาวกลมกลืนไปกับวัตถุหลักในภาพ การแยกฉากหลังก็จะกลายเป็นเรื่องยากขึ้นมาทันทีครับ
                โปรแกรมตกแต่งภาพที่ใช้งานได้ดีในด้านนี้ ควรใช้โปรแกรม โปรแกรมร่วมกัน คือ Lightroom และPhotoshop  โดยมีวิธีการดังนี้ครับ
          เปิดภาพขึ้นมาในโปรแกรม Lightroom (ขั้นตอนต่าง ๆ ใน Lightroom นี้ จะใช้ Photoshop ทำแทนก็ได้เช่นเดียวกันครับ  แต่ผมจะถนัดทำใน Lightroom มากกว่า) แล้วทำการปรับปรุงภาพขั้นต้นเล็กน้อยก่อนตามใจชอบ เช่น ภาพเด็กภาพนี้ ถ่ายโดยการเอาผ้าห่มสีขาวคลุมบนโซฟา แล้วก็ยิงแฟลชตัวเดียวติดบนหัวกล้อง แล้วยิงสะท้อนกับเพดานห้อง หรือที่เรียกว่าการ Bounce  ก็จะได้ฉากหลังขาวในระดับหนึ่งแล้ว แม้จะยังไม่ขาวสนิท ยังเห็นลวดลายหรือตัวอักษรบนผ้าห่มอย่างชัดเจน แต่แค่นี้ก็ทำให้การทำ Isolation แบบฉากหลังขาวตามที่ต้องการง่ายขึ้นมากมายเลยครับ เมื่อเปิดขึ้นมาแล้ว จะปรับค่าเบื้องต้นดังนี้ครับ
  • Camera Profile : Portrait  (ถ้าเป็นภาพประเภทอื่นเช่น ดอกไม้ ก็เลือก Profile ที่เหมาะสม)
  • Contrast : ปรับไปที่ 50  (แต่ละภาพปรับไม่เท่ากัน บวกลบเล็กน้อยตามความเหมาะสม)
  • Clarity  : ปรับไปที่ -30 เพื่อให้ภาพเด็กมีความฟุ้งนิด ๆ ดูนุ่มนวลเหมาะกับเนื้อหาของภาพ  (การปรับ    ไปทางลบ นิยมใช้กับภาพบุคคลเป็นส่วนใหญ่  ถ้าเป็นภาพประเภทอื่น ๆ ให้ปรับไปทางบวก        เช่น +60 เป็นต้น จะทำให้ภาพดูคมชัดมากขึ้น)
  • Vibrance : ปรับไปที่ 25 เพื่อเพิ่มความเข้มของสีสันโดยรวมให้มากขึ้น ถ้าเป็นภาพประเภทอื่น ๆ อาจจะปรับSaturation เพิ่มอีกเล็กน้อยเพื่อให้สีสันสดใสมากขึ้น แต่ไม่เหมาะสำหรับภาพคน สีผิวจะเสียได้ง่าย
  • Noise Reduction : ปรับไปทางขวามือสัก 50 (ขึ้นอยู่กับภาพแต่ละภาพ)
หมายเหตุ การCropตัดส่วนของภาพให้เหมาะสม การปรับเอียง หรือปรับปรุงอื่น ๆ ก็ทำได้ตามใจชอบในขั้นตอนนี้ครับ แต่ขอให้ปรับเพียงเล็กน้อยเท่านั้นนะครับ การลากค่าต่าง ๆ ไปจากค่าพื้นฐานมาก ๆ แม้ว่าจะทำให้ภาพดูแล้วตื่นตาตื่นใจมากขึ้นก็จริง แต่ก็เสี่ยงที่ภาพจะโดนปฏิเสธด้วยข้อหาOver Filterหรือปรับแต่งภาพมากเกินไปจนสูญเสียคุณภาพโดยรวม อันเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของภาพประเภทStock Photographyได้ครับ
          เราก็จะได้ภาพที่ปรับปรุงเล็กน้อยแล้วตามภาพที่ ครับ จะเห็นได้ว่าภาพดูดีขึ้น แต่ก็ยังมองเห็นรายละเอียดบนฉากหลังอยู่ ซึ่งเรามีวัตถุประสงค์ในการทำให้ฉากหลังในภาพนี้ ขาวสนิท” ไม่มีรายละเอียดอื่นใดปรากฏอยู่เลย เลื่อนตัวชี้เมาส์ไปบนภาพแล้วคลิกหนึ่งครั้ง เลือก Edit in Photoshop...  ภาพก็จะถูกเปิดขึ้นใน Photoshop โดยอัตโนมัติ ให้ทำสำเนาเลเยอร์ขึ้นมา โดยในช่องขวามือสุด ให้คลิกที่ภาพค้างไว้ แล้วลากลงไปวางในไอคอนรูปกระดาษพับมุมเล็ก ๆ ด้านล่าง เราก็จะได้เลเยอร์ต้นฉบับพร้อมสำเนาดังนี้ครับ
                คลิกที่เลเยอร์บน ครั้ง ให้มีแถบสีอยู่ที่เลเยอร์นี้ จากนั้นคลิกที่ปุ่มขาว-ดำเล็ก ๆ ด้านล่าง ครั้ง เมื่อมีเมนูปรากฎขึ้นมา ให้เลือกคำว่า Level… จะได้แถบ Level ขึ้นมาในช่องขวามือ คราวนี้ก็คลิกค้างไว้ที่รูปคล้าย ๆ หัวลูกศรด้านขวามือ แล้วค่อย ๆ ลากมาทางซ้าย สังเกตว่า พื้นที่บริเวณสีขาวของภาพ จะค่อย ๆ ขาวขึ้น ดูจนฉากหลังทั้งหมดขาวดีแล้วก็พอ จากนั้นก็ลองคลิกลากอันที่อยู่ตรงกลาง ไปทางซ้ายหรือขวาดูผลที่ได้ ชอบแบบไหนก็ตามถนัดเลยครับ ถ้าไม่ชอบก็ลากกลับมาไว้ที่เดิม การลากด้วย Level นี้ ถ้าเป็นการปรับพอประมาณตามตัวอย่างนี้ ก็จะไม่กระทบกับคุณภาพโดยรวมของภาพ ส่งไปไมโครสต็อกก็จะไม่ถูกปฏิเสธด้วยข้อหา ปรับแต่งมากเกินไป  ดังนี้ครับ
                จากนั้นกด Save As…  ออกไปเป็นภาพ JPG ได้เลยครับ (เลือกคุณภาพการบันทึกสูงสุด) หรือไม่ก็กดSave ภาพก็จะถูกบันทึกกลับไปใน Lightroom อีกครั้ง รอให้เรา Export ออกไปเป็นภาพ JPG พร้อมกับภาพอี่นๆ ครับ โดยจะได้ภาพที่เสร็จแล้วดังนี้
                นี่คือวิธีการแรก ซึ่งเป็นวิธีการที่ง่ายมาก ใครใช้ Photoshop  ไม่เป็นก็ทำได้ เหมาะสำหรับภาพที่มีลักษณะของฉากหลังดังภาพนี้ ตัวอย่างภาพอื่น ๆ ที่ใช้วิธีการเดียวกันนี้ เช่นด้านล่างนี้

                ภาพชุดที่ผ่านไปนั้น เป็นภาพที่สามารถทำฉากหลังขาวได้ด้วยคำสั่ง Level เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีภาพบางประเภทที่สามารถใช้วิธีการเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ให้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น  ภาพประเภทนี้มักจะเป็นภาพที่มีฉากหลังไม่ขาวมากเหมือนภาพประเภทแรก หรือมีฉากหลังที่ขาวแบบกระดำกระด่าง หรือมีสีคล้ำ ๆ ปะปนอยู่ด้วย การใช้ Levelปรับเพียงอย่างเดียว อาจจะไปกระทบกับภาพวัตถุหลักจนมากเกินไปทำให้เสียคุณภาพโดยรวมได้ ดังนั้นจึงต้องมีวิธีการอื่นๆ  เสริมเพิ่มเข้ามา แต่ยังคงเป็นขั้นตอนที่ง่ายสำหรับมือใหม่อยู่เช่นเดิม ขอยกตัวอย่างภาพต่อไปนี้ครับ โดยการปรับปรุงภาพขั้นต้นใน Lightroom คล้าย ๆ กับภาพเด็ก แต่ได้ฉากหลังที่ยังไม่ขาวสนิท เมื่อภาพถูกเปิดในPhotoshop แล้ว ให้ทำตามขั้นตอนนี้ครับ
                อันดับแรก ให้ทำสำเนาเลเยอร์ขึ้นมาใหม่ (ขั้นตอนเดียวกับภาพเด็กครับ) แต่ว่าสำหรับวิธีนี้ จะต้องทำขั้นตอนการสำเนาเลเยอร์เพิ่มอีกครั้ง รวมเป็น เลเยอร์ แล้วก็คลิกเม้าส์ที่เลเยอร์กลางให้มีแถบสีขึ้นมาที่เลเยอร์นี้ จากนั้นคลิกที่เมนู Edit ในแถบเมนูด้านบน จากนั้นเลือก Fill  ในช่อง Use ให้เลือก White หรือสีขาว แล้วคลิก OK จะเห็นว่า เลเยอร์กลางจะกลายเป็นสีขาว ซึ่งอันนี้คือสีขาวที่เป็นที่ขาวแบบสุด ๆ จริง ๆ ที่ไมโครสต็อกชอบแล้วครับ (ถ้าต้องการฉากหลังสีดำก็เลือก Black) จากนั้นคลิกเม้าส์ที่เลเยอร์บนสุดให้มีแถบสีปรากฏขึ้น จากนั้นก็ไปที่แถบเครื่องมือด้านซ้ายมือของจอภาพ เลือกเครื่องมือที่เรียกว่า Megic Wand Tool ตัวชี้เมาส์ของเราก็จะกลายเป็นรูปไม้กายสิทธิ์แบบที่พวกนางฟ้าใช้เสกคาถาใน หนังเทพนิยาย แล้วนำไม้กายสิทธิ์นั้นมาคลิก ครั้งลงบนพื้นที่ฉากหลัง ก็จะเกิดเส้นประขึ้นมารอบ ๆ ตัววัตถุ (บางคนเรียกว่าเส้น มดเดินสวนสนาม) ถ้าพื้นที่เส้นประยังไม่ครอบคลุมฉากหลังทั้งหมดตามที่เราต้องการจะลบออก อันอาจจะเกิดจากฉากหลังมีสีกระดำกระด่างหรือมีค่าสีที่แตกต่างกันอยู่บ้าง ก็ให้กด Shift ค้างไว้ แล้วเอาไม้กายสิทธิ์ไปคลิกเลือกพื้นที่ที่ต้องการไปเรื่อย ๆ จนครบ จะได้ลักษณะประมาณนี้
                จากนั้นคลิกที่ Refine Edge… ด้านบนของภาพ (ที่ล้อมกรอบไว้ครับ) จะมีหน้าต่างปรับเส้นขอบขึ้นมาให้ปรับ ซึ่งในการแยกฉากหลังนั้น ข้อสำคัญคือบริเวณขอบของภาพจะต้องเนียบเรียบ ไม่มีรอยหยักหรือรอยขรุขระโดยเด็ดขาด ถ้ามีเพียงนิดเดียว ก็จะไม่ผ่านการพิจารณาทันที  การปรับเส้นขอบนี้ไม่มีค่าตายตัว ขึ้นอยู่กับลักษณะของภาพเป็นสำคัญ แต่ภาพทั่ว ๆ ไปก็ลองปรับตามที่ผมปรับเป็นตัวอย่างนี้ดูก่อนนะครับว่าชอบหรือไม่ ค่อย ๆ ลดหรือเพิ่มค่าต่าง ๆ ได้ตามใจชอบ ค่าหลัก ๆ ส่วนใหญ่ผมก็ใช้ค่าประมาณนี้
          โดยเฉพาะ Feather นั้นจะใช้เพียง 1 – 2 เป็นหลัก นาน ๆ จึงจะใช้มากกว่านี้สักครั้ง (ขอย้ำว่า ขึ้นอยู่กับลักษณะของภาพเป็นสำคัญ ลองลากปรับดูหลาย ๆ ค่าแล้วดูผลที่เกิดขึ้น สักพักก็จะรู้เองว่า ภาพแบบไหนใช้ค่าเท่าใด) ****  จากนั้นคลิก OK และตามด้วยกดปุ่ม Backspace บนคีย์บอร์ด ฉากหลังสีกระดำกระด่างก็จะหายวับไปทันที กลายเป็นฉากหลังขาวสมบูรณ์แบบ จากนั้นกดปุ่ม Ctrl + D เส้นประไข่ปลาหรือมดเดินสวนสนามนั้นก็จะหายไป เราก็ทำการ Save ภาพได้ตามปกติต่อไป ภาพที่ได้ก็จะเป็นดังนี้ครับ
สำหรับภาพอื่น ๆ ที่ใช้เทคนิคเดียวกันนี้ ก็มีหลายภาพตามตัวอย่างต่อไปนี้
                ภาพที่เหมาะกับการทำ Isolation ด้วยวิธีการที่สอง ควรจะเป็นภาพที่มีขอบภาพซึ่งมีสีตัดกับฉากหลังอย่างชัดเจน เครื่องมือ Magic Wand Tool จึงจะทำงานได้ดี  แต่ถ้าภาพซึ่งพื้นที่บางส่วนบริเวณขอบ มีสีที่เหมือนหรือคล้าย ๆ กับฉากหลัง เช่นภาพเด็กที่ใช้วิธีแรก ถ้าเอามาใช้วิธีนี้ในการแยกฉากหลัง จะมีปัญหามากสำหรับมือใหม่ เนื่องจากว่ามีพื้นที่บางส่วนบริเวณฮู้ดสวมศรีษะมีสีขาวที่มีพื้นที่ต่อ เนื่องกับฉากหลัง ถ้าใช้วิธีที่สอง เมื่อคลิกไม้กายสิทธิ์ลงบนฉากหลัง เส้นประก็จะกินเข้าไปในพื้นที่ส่วนนี้ด้วย สำหรับผู้ชำนาญการใช้งานคงไม่มีปัญหาในการเพิ่มหรือลดพื้นที่ที่เราไม่ต้อง การเลือก แต่บทความนี้มุ่งเน้นการใช้งานสำหรับ มือใหม่สุดๆ” จึงแนะนำให้ใช้วิธีแรกดีกว่าครับ ในการปรับภาพที่คุณถ่ายมาเอง ก็ต้องใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาว่า ภาพใดเหมาะสำหรับการใช้วิธีการใด แต่โดยปกติแล้ว ถ้าถ่ายมาโดยการวางแผนล่วงหน้าตามที่ผมนำเสนอในช่วงแรกของบทความนี้ คือให้มีฉากหลังสีขาวหรือสีพื้นอยู่แล้ว ก็จะเลือกใช้หนึ่งในสองวิธีนี้ได้อย่างแน่นอนครับ เมื่อทำไปสักระยะ พอเห็นภาพแล้วก็จะรู้ได้โดยอัตโนมัติว่า ภาพใดเหมาะสำหรับการทำ Isolation  ด้วยวิธีการใด
                การทำ Isolation ด้วย Photoshop มีมากมายหลายวิธีขึ้นอยู่กับความรู้และประสบการณ์ของผู้ใช้งาน เทคนิคง่าย ๆ สองวิธีนี้ ผมนำเสนอเพื่อให้ผู้ที่อยากลองทำ Isolation แต่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร หรือคิดว่าคงจะทำยากมากๆ  ได้ลองทำดูเพื่อจะได้เข้าใจว่า การใช้งานโปรแกรม Photoshop ไม่ได้ยากอย่างที่คิด และไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ทุกคำสั่งทั้งหมด แต่ใช้วิธีค่อย ๆ เริ่มต้นทีละคำสั่งที่ใช้งานจริงในระดับง่าย ๆ ก่อน แล้วค่อย ๆ ขยับขึ้นไปสู่วิธีการที่สลับซับซ้อนมากขึ้นในภายหลัง การเรียนรู้เทคนิคในการสร้างสรรค์ภาพสำหรับภาพแนว Stock Photo นั้น ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคในขั้นตอนการถ่ายภาพ หรือขั้นตอนการตกแต่งภาพ มีสิ่งที่พิเศษก็คือว่า ทุกครั้งที่เราเรียนรู้หรือศึกษาสิ่งใด เราสามารถที่จะมีโอกาสสร้างรายได้จากการเรียนรู้นั้นแทบทุกครั้ง การทำ Isolation แบบง่าย ๆ นี้ก็เช่นเดียวกัน ลองหาภาพที่คุณถ่ายเก็บไว้มาทำตามไปดูทีละขั้นตอน ใช้เวลาเพียงเล็กน้อย ผลงานที่ได้ก็จะสามารถนำไปส่งเข้าไมโครสต็อก หากได้รับการ Approved ภาพที่ได้จากการทดลองเรียนรู้ของคุณ ก็พร้อมที่จะทำเงินตอบแทนให้กับเวลาที่คุณเสียไปได้ทันที
หมายเหตุ : บทความนี้ผมเขียนเมื่อหลายปีก่อนนะครับ ปัจจุบันนี้ก็มีเทคนิคต่างๆ มากมายในการทำภาพฉากหลังขาวลักษณะนี้เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งบรรดาโปรแกรมตกแต่งภาพก็มีคำสั่งใหม่ๆ ที่ช่วยให้งานแบบนี้ง่ายขึ้น ทำได้เร็วขึ้น มีคุณภาพสูงขึ้นกว่าเดิมมากครับ ควรศึกษาเพิ่มเติมจากหลายๆ Tutorial ที่มีผู้สอนไว้ตามที่ต่างๆ ด้วยครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น